ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ
ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ
โดยสรุป พอจะประมวลประโยชน์ของสมาธิได้ดังนี้
ก. ประโยชน์ที่เป็นจุดหมายหรืออุดมคติทางศาสนา ประโยชน์ที่เป็นความมุ่งหมายแท้จริงของสมาธิตามหลักพระพุทธศาสนา คือ เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งแห่งการปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด อันได้แก่ ความหลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งปวง
ข. ประโยชน์ในด้านการสร้างความสามารถพิเศษเหนือสามัญวิสัย ที่เป็นผลสำเร็จอย่างสูงในทางจิตหรือเรียกสั้น ๆ ว่าประโยชน์ในด้านอภิญญา ข้อ ก. และข้อ ข. จะไม่ขอกล่าวถึงจะกล่าวถึงแต่ที่ให้ผลในชีวิตประจำวัน
ค. ประโยชน์ในด้านสุขภาพจิตและการพัฒนาบุคลิกภาพ เช่น ทำให้เป็นผู้ที่มีจิตใจและมีบุคลิกลักษณะเข้มแข็ง หนักแน่ มั่นคง สงบเยือกเย็น สุภาพ นิ่มนวล สดชื่น ผ่องใส กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า เบิกบาน งามสง่า มีเมตตากรุณา มองดูรู้จักตนเองและผู้อื่นตามความเป็นจริง เตรียมจิตให้อยู่ในสภาพพร้อมและง่ายแก่การปลูกฝังคุณธรรมต่าง ๆ และเสริมสร้างนิสัยที่ดี รู้จักทำใจให้สงบและสะกดยั้งผ่อนเบาความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจได้
ง. ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น
1. ใช้ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลาย หายเครียด เกิดความสงบ หายกระวนกระวาย ยั้งหยุดจากความกลัดกลุ้มวิตกกังวล เป็นเครื่องพักผ่อนกาย ให้ใจสบายและมีความสุข เช่น บางท่านทำอานาปานสติ (กำหนดลมหายใจเข้าออก) ในเวลาที่จำเป็นต้องรอคอยและไม่มีอะไรที่จะทำ เหมือนดังเวลานั่งติดในรถประจำทางหรือปฏิบัติสลับแทรกในเวลาทำงานใช้สมองหนัก เป็นต้น
2. เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน การเล่าเรียนและการทำกิจทุกอย่าง เพราะจิตที่เป็นสมาธิ แน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำลังกระทำ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก ไม่เลื่อนลอยเสีย ย่อมช่วยให้เรียน ให้คิด ให้ทำงานได้ผลดี การงานก็เป็นไปโดยรอบคอบไม่ผิดพลาด และป้องกันอุบัติเหตุได้ดี เพราะเมื่อมีสมาธิ ก็ย่อมมีสติกำกับอยู่ด้วย
3. ช่วยเสริมสุขภาพกายและใช้แก้ไขโรคได้ ร่างกายกับจิตใจอาศัยกันและมีอิทธิพลต่อกัน ปุถุชนทั่วไปเมื่อกายไม่สบาย จิตใจก็พลอยอ่อนแอเศร้าหมองขุ่นมัว ครั้นเสียใจไม่มีกำลังใจ ก็ยิ่งซ้ำให้โรคทางกายนั้นทรุดหนักลงไปอีก แม้ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติพอประสบเรื่องราวให้เศร้าเสียใจรุนแรง ก็ล้มป่วยเจ็บไข้ไปได้ ส่วนผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งสมบูรณ์ (โดยเฉพาะท่านที่มีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระแล้ว) เมื่อเจ็บป่วยกายก็ไม่สบายอยู่แค่กายเท่านั้น จิตใจไม่พลอยป่วยไปด้วย
ถ้าสรุปตามพระบาลี การฝึกอบรมเจริญสมาธิมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา (การเจริญสมาธิ) มี 4 อย่าง ดังนี้คือ
1. สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทิฏฐธรรสุขวิหาร (การอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน)
2. สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ
1. สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ
2. สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มาแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ท่านก็ได้สรุปอานิสงส์ คือผลได้ต่าง ๆ ของสมาธิภาวนา หรือการฝึกสมาธิไว้เหมือนกันดังที่แสดงไว้ในวิสุทธิมัคค์ มี 5 ประการ คือ
1. เป็นวิธีการพักผ่อนอย่างสุขสบายในปัจจุบัน ข้อนี้เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนา (คือระดับฌาน)สำหรับพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ทำกิจเพื่อความหลุดพ้นเสร็จสิ้นแล้วไม่ต้องใช้ฌานเพื่อบรรลุภูมิธรรมใด ๆ ต่อไปอีก อ้างพุทธพจน์ว่า ฌานเหล่านี้เรียกว่าเป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร ในวินัย(ระบอบหรือแบบแผน) ของพระอริยะ
2. เป็นบาทหรือเป็นปทัฏฐานแห่งวิปัสสนาข้อนี้เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนาก็ได้ หรือขั้นอุปจาระก็พอได้ แต่ไม่โปร่งนัก ประโยชน์ข้อนี้ใช้สำหรับพระเสขะและปุถุชน อ้างพุทธพจน์ว่า ภิกษุทั้งหลาย จงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง
3. เป็นบาทหรือเป็นปทัฏฐานแห่งอภิญญา ข้อนี้เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนาสำหรับผู้ได้สมาบัติ 8 แล้ว เมื่อต้องการอภิญญาก็อาจทำให้เกิดขึ้นได้ อ้างพุทธพจน์ว่า จิตนุ่มนวลควรแก่งาน จะน้อมจิตไปเพื่อประจักษ์แจ้งด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมที่พึงประจักษ์แจ้งด้วยอภิญญาอย่างใด ๆ ก็ถึงความเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ได้ในเมื่อเหตุมีอยู่
4. ทำให้ได้ภพวิเศษ คือ เกิดในภพที่ดีที่สูง ข้อนี้ เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนา สำหรับปุถุชนผู้ได้ฌานแล้ว และฌานมิได้เสื่อมไปเสีย ทำให้ได้เกิดในพรหมโลก อ้างพุทธพจน์ว่า เจริญปฐมฌานขั้นปริตตกุศลแล้ว เกิดที่ไหน? ย่อมเข้าร่วมพวกเทพพรหมปาริสัชชา[7] อย่างไรก็ดี แม่สมาธิขั้นอุปจารก็สามารถให้ภพวิเศษ คือ กามาวจรสวรรค์ 6 ได้
5. ทำให้เข้านิโรธสมาบัติได้ ข้อนี้เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนา สำหรับ (พระอรหันต์หรือพระอนาคามี) ผู้ได้สมาบัติ 8 แล้ว ทำให้เสวยความสุขอยู่ได้โดยไม่มีจิตตลอดเวลา 7 วัน อ้างญาณในนิโรธสมาบัติ ในปฏิสัมภิทามัคค์
ประโยชน์หรือความมุ่งหมายในการเจริญสมาธินี้ได้ยกมาแสดงไว้ทั้งในส่วนที่ปฏิบัติแล้วใช้ได้ในชีวิตประจำวันอันเป็นสมาธิขั้นพื้นฐาน และในขั้นสูงขึ้นไปกว่าขั้นพื้นฐานนั้นเผื่อบางท่านมีความพยายามอยากปฏิบัติขั้นสูงขึ้นไปกว่าขั้นพื้น