ข้อควรปฏิบัติในการกินเจ
13 มิ.ย.52 13:57 น. ผู้ชมจำนวน 18376
ข้อควรปฏิบัติในการรับประทานอาหารเจ
๑. พืชผักและผลไม้ เป็นของคู่กันเสมอ นอกจากผักสด ๆ ที่นำมาปรุงเป็นอาหารแล้ว คนกินเจจำเป็นต้องรับประทานผลไม้สด ๆ หลังอาหารทุกมื้ออย่างสม่ำเสมอ การเลือกซื้อผักผลไม้เพื่อนำมาปรุงและ การบริโภคในแต่ละวัน ควรจัดให้ได้ครบตามสีของธาตุทั้ง ๕ ดังนี้
สีแดง (แดง, ส้ม, แสด, ชมพู) สัญลักษณ์ ธาตุไฟ เช่น มะเขือเทศ, พริกสุก, หัวแครอท, มะละกอ, ส้ม, แตงโม ฯลฯ
สีดำ (น้ำเงิน, ม่วง) สัญลักษณ์ ธาตุน้ำ เช่น มะเขือม่วง, เผือก, เห็ดหูหนู, ละมุด, ลูกหว้า, องุ่น ฯลฯ
สีเหลือง (เหลืองแก่, เหลืองอ่อน) สัญลักษณ์ ธาตุดิน เช่น ฟักทอง, ข้าวโพด, พริกเหลือง, มะม่วง, กล้วย, ทุเรียน ฯลฯ
สีเขียว (เขียวเข้ม, เขียวอ่อน) สัญลักษณ์ ธาตุไม้ เช่น ผักคะน้า, ถั่วฝักยาว, ผักบุ้ง, ฝรั่ง, ชมพู่, มะเฟือง ฯลฯ
สีขาว (ขาวนวล, ขาวสะอาด) สัญลักษณ์ ธาตุทอง เช่น หัวผักกาดขาว, ผักกาดขาว, กระหล่ำดอก, มะพร้าว, น้อยหน่า ฯลฯ
ผักผลไม้ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงหรือเป็นประเภทหายาก เช่นพวกผักผลไม้เมืองหนาว ควรยึดหลักราคาถูก ประหยัด แต่มีคุณประโยชน์สูง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รู้จัก ฉลาดกิน ฉลาดใช้ ประหยัดยอด ประโยชน์เยี่ยม
ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยผักผลไม้หลากหลาย ตลดปีเราสามารถเลือกหามาบริโภคได้ไม่ขาดแคลน จึงควรเลือกซื้อมาปรุงและบริโภคให้ครบทั้ง ๕ สี โดยสลับเปลี่ยนหมุนเวียนนำมาบริโภคในแต่ละวันโดยไม่ซ้ำกัน และไม่ควรเลือกทานแต่เฉพาะอย่างหนึ่งอย่างใดที่ตนชอบ โดยไม่คำนึงถึงคุณประโยชน์ หลาย ๆ ท่านเลือกรับประทานผักผลไม้เฉพาะอย่างเพื่อความอร่อยเท่านั้น เป็นการรับประทานอาหารเจที่ยังไม่ถูกหลัก
๒. เมล็ดธัญพืช นอกจากผักผลไม้ที่ต้องรับประทานให้ครบทุกสีเป็นประจำแล้ว เมล็ดธัญพืชได้แก่ ถั่ว ถั่วเปลือกแข็งทุกประเภท พืชที่เป็นหัวในดิน เช่น เผือก มัน กลอย มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก โดยเฉพาะเมล็ดถั่วมีสารอาหารครบทุกหมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต คือแป้งและน้ำตาล โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่หลายชนิด คนที่กินเจควรรับประทานถั่วทั้ง ๕ สีเป็นประจำ ได้แก่ ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วขาว
ถั่วทั้ง ๕ สีนี้ ราคาไม่แพงมีอยู่แพร่หลาย บางทีก็ทำเป็นของหวานต่าง ๆ เช่น ถั่วดำบด ถั่วแดงต้มน้ำตาล ถั่วเหลืองน้ำกระทิ (เต้าส่วน) ถั่วเขียวต้มน้ำตาลกรวด ถั่วลิสงอบหรือเคลือบน้ำตาล ลูกเดือยบวด ถั่วขาวกวน ฯลฯ สำหรับถั่วขาวไม่ค่อยจะมีการปลูกแพร่หลายในประเทศไทย แต่ก็สามารถรับประทานถั่วลิสงซึ่งให้ประโยชน์ทดแทนกันได้
ทุกคนควรรับประทานถั่วดังกล่าวหมุนเวียนไปให้ครบทุกสีจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์และช่วยเสริมให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทำงานได้ดียิ่งขึ้น
เนื้อเมล็ดในของพืชผัก อันได้แก่ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม มันฮ่อ นับเป็นของขบเคี้ยวที่คนกินเจรู้จักดี เนื้อในของเมล็ดพืชดังกล่าว เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินมากมายหลายชนิด ซึ่งทรงคุณค่าทางโภชนาการอย่างยิ่ง
๓. การได้รับประทานสาหร่ายทะเลทั้งสดและแห้ง พร้อมทั้งใช้เกลือทะเลมาปรุงลงในอาหาร ทั้ง ๒ อย่างนี้มีไอโอดีน ซึ่งจะสามารถป้องกันโรคคอพอกได้เป็นอย่างดี
๔. งาขาวและงาดำ ในอาหารและขนมคนกินเจควรใช้งาปรุงผสมด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงาขาวหรืองาดำเพราะในเมล็ดงามี กรดไขมันไลโนเลอิค (Linoleic Acid) ซึ่งจำเป็นต่อร่างกายมากแต่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้
สำหรับผู้ทำอาหารเจรับประทานเอง ให้นำงาขาวมาล้างเอาผงฝุ่นออกจนสะอาดดี ตักใส่ตะแกรงทิ้งไว้ให้หมาดแล้วใช้ไฟอ่อน ๆ คั่วในกระทะจนสุกเหลือง พอเย็นจึงนำมาโขลกหรือปั่นให้แตกด้วยเครื่อง จะทำให้ได้ประโยชน์จากน้ำมันที่อยู่ในเมล็ดดียิ่งขึ้น งาที่บดแล้วจะมีกลิ่นหอมสามารถนำมาใช้ปรุงอาหารและขนมได้ทุกประเภท ทำให้มีรสดี หอมน่ารับประทาน โดยปกติผู้ท่ากินเจควรรับประทานงาในปริมาณวันละ ๒ ช้อนโต๊ะ ก็นับว่าเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย
๕. ผู้ที่กินเจไม่ควรรับประทานอาหารรสจัดเกินไป เช่น เผ็ดจัด เค็มจัด ขมจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด รสชาติที่จัดมาก ๆ จะส่งผลไปถึงอวัยวะหลักดังนี้
รสขม ส่งผลต่อ หัวใจ
รสเค็ม ส่งผลต่อ ไต
รสหวาน ส่งผลต่อ ม้าม
รสเปรี้ยว ส่งผลต่อ ตับ
รสเผ็ด ส่งผลต่อ ปอด
๖. หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารหมักดอง เช่น ผักดอง ผลไม้ดอง เครื่องกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป ควรหันมารับประทานอาหารสดที่ปรุงใหม่ ๆ จะให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายมากว่า
๗. เครื่องดื่ม ควรกินเจควรดื่มน้ำผลไม้สด ๆ ตามธรรมชาติ เช่น น้ำส้ม น้ำมะเขือเทศ น้ำสับปะรด น้ำอ้อย น้ำมะพร้าว น้ำใบบัวบก น้ำมะตูม ฯลฯ น้ำผลไม้ดังกล่าวจะทำให้ร่างกายและผิวพรรณสดชื่นเปล่งปลั่ง เราควรงดน้ำหวานที่ปรุงแต่งรสและเจือสีสังเคราะห์เพื่อหลีกเลี่ยงพิษภัยจากสิ่งปลอมปน
นอกจากการดื่มน้ำผลไม้สด ๆ แล้ว ทุกคนต้องดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละ ๘ แก้วเป็นประจำ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นหลักความรู้ในการปรุงและบริโภคอาหารเจ ซึ่งคนกินเจต้องยึดถือปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งพลานามัยที่สมบูรณ์ พร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ