ความหมายของคำว่า “เจ”

13 มิ.ย.52 13:55 น. ผู้ชมจำนวน 18296

คำว่า “เจ” ในภาษาจีนมีความหมายทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานว่า “อุโบสถ” คำว่า “กินเจ” ตามความหมายที่แท้จริงคือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน ดังเช่นที่ชาวพุทธในประเทศไทยถือ “อุโบสถศีล” หรือ “รักษาศีล ๘” จะไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว

แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธฝ่ายมหายานไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมเรียก “การไม่กินเนื้อสัตว์” ไปรวมกับคำว่า “กินเจ” ซึ่งเป็นการถือศีลไปด้วย ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง ๓ มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่า “กินเจ” ฉะนั้นความหมายก็คือ “คนกินเจ” มิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่คนที่กินเจยังตืองดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์สะอาด งดงามทั้งกาย วาจา ใจ เป็นการถือศีลบำเพ็ญธรรมไปด้วยพร้อมกัน เช่นนี้แล้วจึงจะเรียกว่า “กินเจที่แท้จริง”

ดังนั้น คำคล้องจองที่เราได้ยินอยู่เสมอ คือ “ถือศีล กินเจ” จึงนับว่ามีความหมายสมบูรณ์ครบถ้วนอยู่ในตัวเองแล้ว

ตามร้านขาย “อาหารเจ” เราพบเห็นตัวอักษรภาษาจีนที่อ่านว่า "ไจ" (เจ) แปลว่า “ไม่มีของคาว” เขียนด้วยสีแดงบนพื้นสีเหลืองเสมอ ในช่วงเทศกาลกินเจเดือน ๙ จะเห็นตัวอักษรนี้เขียนบนธงสีเหลือง ปักอยู่ตามแผงขายอาหารเจมองเห็นเป็นที่สะดุดตาแก่คนทั่วไป

ชาวจีนถือว่าสีแดงเป็นสีแห่งสิริมงคลแก่ชีวิต สีเหลืองเป็นสีของผู้ทรงศีล ดังนั้นผู้ตั้งใจถือศีลบำเพ็ญตนให้บริสุทธิ์ ตัวอักษรนี้ย่อมเป็นเครื่องหมายเตือนสติให้ระลึกไว้เสมอว่า “การกินเจงดเว้นเนื้อสัตว์ของคาว คือ การปฏิบัติธรรมรักษาศีลของความเป็นมนุษย์ เป็นการเจริญมหาเมตตากรุณาธรรมโดยแท้ อันจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและก่อให้เกิดสันติสุขแก่ทุกชีวิตบนโลก”



รู้และเข้าใจในการกินเจอย่างถูกต้อง

ตั้งแต่โบราณกาลนับเป็นพัน ๆ ปีจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ไม่ว่าโลกจะผันแปรไปในทิศทางใดก็ตาม คนจำนวนหลายพันหลายหมื่นครอบครัวที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการรับประทานแต่อาหารเจสืบทอดจากบรรพบุรุษก็ยังมีอยู่ให้พบเห็นได้ในทุกวันนี้

“อาหารเจ” เป็นอาหารที่ปรุงขึ้นมาจากพืชผักธรรมชาติล้วน ๆ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปะ และที่สำคัญต้องไม่ปรุงด้วยผักฉุนทั้ง ๕ ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุ้ยฉ่าย ใบยาสูบ บรรพชนในแต่ละครัวเรือนของคนกินเจได้ถ่ายทอดหลักของการกินเจที่ถูกต้อง และศิลปะในการปรุงไว้ให้แก่ลูกหลานของตน สืบต่อเนื่องกันมาโดยไม่ขาดสาย

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาหารเจเป็นอาหารที่มีรสจืดชืดไม่อร่อย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสอาหารเจที่แท้จริงก็เป็นได้ อาหารเจมีรสชาดอร่อยกลมกล่อมต่างไปจากอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเจไม่มีกลิ่นเหม็นคาวใด ๆ เลย อาหารเจบางอย่างคนทั่วไปที่ได้รับประทานแต่อาหารเนื้อจะไม่มีโอกาสได้รู้จักหรือลิ้มรสเลยในชีวิต เนื่องด้วยอาหารเหล่านั้นทำขึ้นรับประทานกันเฉพาะในบรรดากลุ่มของคนที่กินเจเท่านั้น

บางคนมักคิดเอาเองว่า หากรับประทานแต่อาหารเจจะทำให้เป็นโรคขาดอาหาร แต่ทางการแพทย์กลับยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นคนที่กินอาหารเนื้อหรือคนที่กินเจ ก็มีสิทธิ์เป็นโรคขาดอาหารได้เท่ากัน สาเหตุสำคัญของโรคขาดอาหารในคนทั้ง ๒ กลุ่มก็คือ การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลัก บริโภคอาหารไม่ครบ ๕ หมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต แป้งและน้ำตาล โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ เป็นเหตุให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ไม่ครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า โรคขาดอาหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกินเนื้อหรือกินเจ แต่ขึ้นอยู่กับนิสัยกินตามใจ เลือกกินแต่อาหารที่ตนชอบโดยไม่คำนึงถึงคุณประโยชน์ที่จะได้จากการรับประทานอาหารนั้น ๆ

ในความเป็นจริงแล้ว คนที่กินเจอย่างถูกหลักจะรู้สึกว่าตนได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่า มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่าคนที่บริโภคอาหารเนื้อเสียอีก ผู้ที่ทดลองรับประทานอาหารเจได้ระยะหนึ่งถึงกับกล่าวว่า “การรับประทานอาหารเจ ทำให้มีโอกาสได้กินพืชผักที่มีคุณประโยชน์มากมายหลายชนิด ซึ่งในระหว่างที่รับประทานอาหารเนื้อไม่เคยใส่ใจเลย”

คนกินเจรู้จักวิธีดัดแปลงแปรรูปธัญพืชในธรรมชาติให้ได้มาซึ่งโปรตีน เราจะพบเห็นผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเมล็ดถั่วเหลืองมากมายหลายชนิด เช่น น้ำนมถั่วเหลือง (น้ำเต้าหู้) เต้าหู้ขาว เต้าหู้เหลือง เต้าเจี้ยว น้ำมันถั่วเหลือง ซีอิ๊ว ฟองเต้าหู้ ฯลฯ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งโปรตีนอันอุดมและมีคุณค่าสูงยิ่ง

ทุกวันนี้ไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่นิยมบริโภคแต่เนื้อสัตว์กันมากจนละเลยอาหารผักซึ่งมีคุณประโยชน์สูงไปอย่างน่าเสียดาย หลายคนมีนิสัยเลือกรับประทานเฉพาะเนื้อสัตย์และเขี่ยผักทิ้งไม่ยอมบริโภค นี่แหละเป็นสาเหตุสำคัญของโรคขาดสารอาหาร ทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารครบตามที่ต้องการ จะพบว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ทานผักน้อยหรือไม่ทานเลยมักป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เช่นโรคขาดอาหาร ขาดวิตามิน โรคกระเพาะ โรคเกี่ยวกับลำไส้ และทางเดินอาหาร สุขภาพไม่แข็งแรง เซื่องซึม ไม่เฉลียวฉลาด ขาดปฏิภาณไหวพริบ สติปัญญาต่ำ พัฒนาการทางร่างกายและจิตใจไม่สมบูรณ์

ประจักษ์พยานสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความล้ำค่าของอาหารเจก็คือ บรรดาครอบครัวของผู้ที่กินเจตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษสืบต่อกันลงมาหลายชั่วคน ก็ยังคงมีให้เราพบเห็นอยู่จนทุกวันนี้ จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งต่อเนื่องกัน หลักเกณฑ์ที่ถูกต้องและดีงามและทรงคุณค่า ก็ยังอยู่เป็นอมตะไม่เปลี่ยนแปลง ทุก ๆ คน ทุก ๆ ครอบครัวที่บริโภคแต่อาหารเจล้วนมีพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคร้ายแรงเบียดเบียน และสามารถปฏิบัติภาระกิจการงานได้เป็นอย่างดี แม้แต่ทารกที่เกิดจากมารดาซึ่งกินเจอย่างถูกหลักก็ไม่พบว่าขาดสารอาหารแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเด็ก ๆ ทุกคนล้วนมีร่างกายแข็งแรงสุขภาพอนามัยดี ไม่เป็นโรคติดต่อใด ๆ ได้ง่าย มีภูมิต้านทานสูง จิตใจเบิกบาน ร่าเริงสดใส เฉลียวฉลาด ปฏิภาณไหวพริบ สติปัญญาดี

เพราะฉะนั้นคนเราถึงจะมีฐานะดีร่ำรวยมหาศาล แต่หากไม่รู้จักรับประทานอาหารให้ถูกต้องครบถ้วนก็เป็นโรคขาดสารอาหารได้พอ ๆ กับคนยากจนอดอยากที่ไม่มีจะกิน ไม่ว่าท่านจะกินเนื้อหรือกินเจ หากกินไม่ถูกต้องก็มีสิทธิ์เป็นโรคขาดอาหารได้เท่ากัน พึงตระหนักไว้อยู่เสมอว่า “ทรัพย์สินเงินทองซื้อสุขภาพไม่ได้ สุขภาพที่ดีขึ้นอยู่กับการรู้จักปฏิบัติตัวของท่านเอง”

หัวข้ออื่นๆ

ความหมายของคำว่า “เจ”ประวัติการกินเจเดือนเก้าจีนข้อควรปฏิบัติในการกินเจคุณประโยชน์จากการกินเจหลักธรรมในการกินเจอานิสงส์ของการไม่กินเนื้อสัตว์ สัตว์เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์จริงหรือ

© Copyright 2007-2012 www.Watdon.net All rights reserved.