วิธีเจริญสมาธิ
วิธีเจริญสมาธิ
ดังได้กล่าวแล้วว่า ผู้ฝึกสมาธิอาจใช้สมาธิเพียงขั้นต้น ที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ เป็นการเริ่มต้นด้วยสมาธิที่ยังอ่อน ก็เหมือนคนเดินทางที่มีกำลังน้อยไม่เข้มแข็ง ทำให้มีความพร้อมในการเดินทางน้อยลง ดังนั้น จึงเกิดความนิยมที่จะฝึกอบรมเน้นหนักด้านสมาธิให้เป็นพื้นฐานไว้ก่อนไม่มากก็น้อยเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีพื้นฐานของการฝึกสมาธิมาเลย
การฝึกอบรมเจริญสมาธินั้น แม้ว่าโดยหลักการ จะพูดได้สั้นนิดเดียว แต่ในด้านวิธีการมีเนื้อหารายละเอียดมากมายยิ่งถ้าพูดขั้นสูงขึ้นไปยิ่งมีรายละเอียดมาก ฉะนั้นจะเสนอแค่ขั้นพื้นฐานที่คนทั่วไปสามารถปฏิบัติได้ จึงจะกล่าวไว้แต่หลักสำคัญกว้าง ๆ พอเป็นเค้าให้เห็นแนวทาง
1. การเจริญสมาธิตามวิธีธรรมชาติ
การเจริญสมาธิในข้อนี้ ก็คือ การปฏิบัติตามหลักการเกิดขึ้นของสมาธิในกระบวนธรรมที่เป็น
ไปเองตามธรรมดาของธรรมชาติ สาระสำคัญของกระบวนธรรมนี้คือ การทำสิ่งที่ดีงามอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เกิดปราโมทย์ขึ้นจากนั้นก็จะเกิดปีติ ซึ่งตามมาด้วยปัสสัทธิความสุข และสมาธิในที่สุด พูดเป็นคำไทยว่า เกิดความปลาบปลื้มบันเทิงใจ จากนั้นก็จะเกิดความเอิบอิ่มใจ ร่างกายผ่อนคลายสงบ จิตใจสบายมีความสุข แล้วสมาธิก็เกิดขึ้นได้
การที่กระบวนธรรมเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้นั้น ตามปกติจะต้องมีศีลเป็นฐานรองรับอยู่ก่อน สำหรับคนทั่วไป ศีลนั้นก็หมายเอาเพียงแค่การที่มิได้ไปเบียดเบียนล่วงละเมิดใครมาที่จะเป็นเหตุให้ใจคอวุ่นวายคอยระแวงหวาดหวั่นกลัวโทษหรือเดือดร้อนใจในความผิดความชั่วร้ายของตนเอง มีความประพฤติสุจริตเป็นที่สบายใจของตนทำให้จิตใจเอิบอิ่มเกิดสมาธิได้ ก็คือความสุข ดังพุทธพจน์ที่ตรัสเป็นแบบไว้เสมอ ๆ ว่า “สุขิโน จิตฺตํ สมาธิยติ”[1] แปลว่า ผู้มีสุข จิตย่อมเป็นสมาธิ การฝึกสมาธิในข้อนี้ ก็คือหลักทั่วไปของการฝึกสมาธิซึ่งเป็นแกนกลางของวิธีฝึกทั่วไปก่อนจะถึงขั้นสูงขึ้นไป
2. การฝึกสมาธิตามหลักอิทธิบาท
อิทธิบาท แปลว่า ธรรมเครื่องให้ถึงความสำเร็จ หรือทางแห่งความสำเร็จ 4 อย่าง คือ ฉันทะ
(ความพอใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (ความคิดจดจ่อ) และวิมังสา (ความสอบสวนไตร่ตรอง) แปลให้จำง่ายตามลำดับว่า มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน
อิทธิบาทนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้กับเรื่องสมาธิ เพราะอิทธิบาทเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดสมาธิ และนำไปสู่ผลสำเร็จที่เป็นจุดหมายของสมาธิ สมาธิที่เกิดจาก ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หรือจากความมีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร มีแนวความเข้าใจดังนี้
1. ฉันทะ ความพอใจ ได้แก่ การที่เรามีใจรักในสิ่งทำ และพอใจใฝ่รักใจจุดหมายของสิ่งที่ทำนั้น อยากทำสิ่งนั้น ๆ ให้สำเร็จ อยากให้งานนั้นหรือสิ่งนั้นบรรลุถึงจุดหมาย พูดง่าย ๆ ว่ารักงานและรักจุดมุ่งหมายของงาน คือ เมื่อเราทำอะไรแล้วต้องทำจริง ทำให้ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด ขณะที่สิ่งนั้นหรืองานนั้นกำลังเดินหน้าไปสู่จุดหมาย ก็เกิดปีติเป็นความเอิบอิ่มใจ ครั้นสิ่งหรืองานที่ทำบรรลุจุดหมายก็ได้รับโสมนัสเป็นความฉ่ำชื่นใจ แม้คนทั้งหลายที่ทำงานด้วยใจรักก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีฉันทะนำแล้วก็ต้องการทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ให้สำเร็จผลอย่างดีที่สุดของสิ่งนั้น ของงานนั้น ไม่ห่วงพะวงกับสิ่งล่อเร้าหรือผลตอบแทนทั้งหลาย จิตใจก็มุ่งแน่วแน่มั่นคงในการดำเนินสู่จุดหมาย เดินเรียบสม่ำเสมอ ไม่ซ่านไม่ส่าย ฉันทสมาธิจึงเกิดโดยนัยนี้
2. วิริยะ ความเพียร ได้แก่ ความอาจหาญ แกล้วกล้า บากบั่น ก้าวไป ใจสู้ ไม่ย่อท้อไม่หวั่นต่ออุปสรรคและความยากลำบาก ถ้าวิริยะเกิดขึ้นแก่เขาแล้ว แม้ได้ยินว่าจุดหมายนั้นจะลุถึงได้ยากนัก มีอุปสรรคมาก หรืออาจใช้เวลายาวนานเท่านั้นปี เท่านี้เดือน เขาก็ไม่ท้อถอย กลับเห็นเป็นสิ่งท้าทายที่เขาจะเอาชนะให้ได้ทำให้สำเร็จ ส่วนผู้ที่ขาดความเพียร อยากบรรลุความสำเร็จเหมือนกัน แต่พอได้ยินว่าต้องใช้เวลานานเป็นปีก็หมดแรง ถอยหลัง ถ้าอยู่ระหว่างปฏิบัติก็ฟุ้งซ่าน จิตใจวุ่นว่าย ปฏิบัติได้ผลยาก คนที่มีความเพียร เท่ากับมีแรงหนุน เวลาทำงานหรือปฏิบัติธรรมก็ตาม จิตใจจะแน่วแน่ มั่นคง พุ่งตรงต่อจุดหมาย สมาธิก็เกิดขึ้นได้ เรียกว่าวิริยสมาธิ
3. จิตตะ ความคิดจดจ่อ หรือเอาใจฝักใฝ่ ได้แก่ ความมีจิตผูกพัน จดจ่อ เฝ้าคิดเรื่องนั้น ใจอยู่กับงานนั้น ไม่ปล่อย ไม่ว่างไปไหน ถ้าจิตตะเป็นไปอย่างแรงกล้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรืองานอย่างใดอย่างหนึ่ง คนผู้นั้นจะไม่สนใจไม่รับรู้เรื่องอื่น ๆ ใครพูดอะไรเรื่องอื่น ๆ ไม่สนใจ แต่ถ้าพูดเรื่องนั้นงานนั้นจะสนใจเป็นพิเศษทันที ความมีใจจดจ่อฝักใฝ่เช่นนี้ ย่อมนำให้สมาธิเกิดขึ้น จิตจะแน่วแน่ แนบสนิทในกิจที่ทำ มีกำลังมากเฉพาะสำหรับกิจนั้น เรียกว่าจิตตสมาธิ
4. วิมังสา ความสอบสวนไตร่ตรอง ได้แก่ การใช้ปัญญาพิจารณาหมั่นใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อน เกินเลยพกพร่องหรือขัดข้องเป็นต้นในกิจที่ทำ รู้จักทดลองและคิดค้นหาทางแก้ไขปรับปรุง ข้อนี้เป็นการใช้ปัญญาชักนำสมาธิ ซึ่งจะเห็นได้ไม่ยาก คนที่มีวิมังสาชอบคิดค้นหาเหตุผล ชอบสอบสวนทดลอง เมื่อทำอะไร ก็คิดพิจารณาทดสอบไป การคิดหาเหตุผลและสอบสวนทดลองอย่างนี้ย่อมช่วยรวมจิตให้คอยกำหนดและติดตามเรื่องที่พิจารณาอย่างติดแจตลอดเวลา เป็นเหตุให้จิตแน่วแน่แล่นดิ่งไปกับเรื่องที่พิจารณา ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก และมีกำลัง เรียกว่าเป็นวิมังสาสมาธิ
การฝึกสมาธิที่ควบคู่ไปกับอิทธิบาท 4 นี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่คนทั่วไปสามารถฝึกปฏิบัติและให้ผลได้สำหรับทุกคนที่ไม่มีเวลาปฏิบัติ เพราะวิธีนี้สามารถปฏิบัติได้ในทุกขณะ เช่น เมื่อเรียนหนังสือ ทำงาน เล่นกีฬา นั่งอยู่บนรถเมล์ เป็นต้น ก็สามารถปฏิบัติได้ เมื่อเรามีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวนในสิ่งที่ทำก็คือการฝึกสมาธิไปในตัว
3. การฝึกสมาธิโดยใช้สติเป็นตัวนำ
การฝึกสมาธิวิธีนี้องค์ธรรมที่จะใช้เป็นเครื่องชักนำหรือฝึกให้เกิดสมาธิ ก็คือ องค์ธรรมพื้น
ฐานที่เรียกว่าสติ เพราะสติเป็นเครื่องดึงและกุมจิตไว้กับอารมณ์ คือ สิ่งที่พึงเกี่ยวข้องและกิจที่ต้องทำในเวลานั้น การฝึกสมาธิด้วยอาศัยสติเป็นหลัก แยกได้เป็น 2 วิธีใหญ่ คือ
1. การฝึกเพื่อใช้งานทางปัญญา หรือมุ่งประโยชน์ทางปัญญา ได้แก่การใช้สตินำทางให้แก่
ปัญญาหรือทำงานร่วมกับปัญญา โดยคอยจับอารมณ์ส่งเสนอให้ปัญญารู้หรือพิจารณา พูดอีกอย่างหนึ่งว่าสติดึงหรือกุมจิตอยู่กับอารมณ์และปัญญาก็พิจารณาหรือรู้เข้าใจอารมณ์นั้น ตามวิธีฝึกแบบนี้สมาธิไม่ใช่ตัวเน้น แต่พลอยได้รับการฝึกไปด้วย พลอยเจริญไปด้วยเอง พร้อมกับที่พลอยช่วยส่งเสริมการใช้ปัญญาให้ได้ผลดียิ่งขึ้นด้วย การฝึกแบบนี้เรียกได้ว่าเป็นการเจริญสมาธิในชีวิตประจำวัน
2. การฝึกเพื่อสร้างสมาธิล้วน ๆ หรือมุ่งลึกลงไปในทางสมาธิเพียงด้านเดียว ได้แก่ การใช้
สติคอยจับอารมณ์ไว้ให้จิตอยู่กับอารมณ์นั้นไม่คลาดจากกัน หรือตรึงจิตให้อยู่กับอารมณ์ที่กำลังกำหนดนั้นเรื่อยไป เป็นวิธีการที่เน้นสมาธิโดยตรง
4. การเจริญสมาธิอย่างเป็นแบบแผน
คำว่า การฝึกสมาธิอย่างเป็นแบบแผนในที่นี้ หมายถึง วิธีฝึกอบมรเจริญสมาธิอย่างที่ได้ปฏิบัติสืบ ๆ กันมา ในประเพณีการปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท[2] ตามที่ท่านนำลงเขียนอธิบายไว้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา เฉพาะอย่างยิ่งคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ [3] เป็นวิธีการที่ปฏิบัติกันอย่างเอาจริงเอาจังเป็นงานเป็นการ โดยมุ่งฝึกเฉพาะแต่ตัวสมาธิแท้ ๆ ภายในขอบเขตที่เป็นโลกีย์ทั้งหมด[4] ซึ่งกำหนดวางกันไว้เป็นรูปแบบ มีขั้นตอนที่ดำเนินไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่การตระเตรียมตัวเบื้องต้นก่อนฝึก วิธีเจริญกรรมฐานแต่ละอย่าง ๆ และความก้าวหน้าในการฝึก จนได้รับผลในขั้นต่าง ๆ ตลอดถึงฌานสมาบัติและโลกียอภิญญาทั้งหลาย วิธีการปฏิบัตินี้เป็นวิธีการสำหรับผู้ที่เอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติสามารถตัดปลิโพธกังวลได้แล้วจึงจะสามารถปฏิบัติได้ แต่สำหรับคนที่ยังหาเช้ากินค่ำยังต้องทำงานมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบอยู่ไม่สามารถจะปฏิบัติได้ ฉะนั้นในส่วนของการปฏิบัติอย่างมีแบบแผนนี้จะไม่ขออธิบายไว้