ใครควรปฏิบัติสมาธิ
ใครควรปฏิบัติสมาธิ
การฝึกสมาธินั้นทำได้ทุกระดับคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่เพราะฝึกแล้วจะได้รับประโยชน์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่แต่ระดับขั้นของสมาธิก็ต้องแตกต่างกันออกไป คือ ขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง ขั้นสูงสุด คนที่จะฝึกสมาธิได้ง่าย จะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมสูงจงนึกถึงหลักที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า การไม่ทำบาปทั้งปวงหนึ่ง การบำเพ็ญกุศลให้บริบูรณ์หนึ่ง การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้วหนึ่ง[1] ทั้งสามอย่างนี้เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ การทำสมาธิ ก็คือการทำจิตให้ผ่องแผ้ว จงสังเกตว่า ผู้ที่จะทำจิตของตัวเองให้ผ่องแผ้วได้นั้น จะต้องผ่านการกระทำในขั้นที่หนึ่งและขั้นที่สองมาก่อน เพราะฉะนั้นสำหรับบุคคลที่ยังทำบาปอยู่เสมอ และคุณธรรมในตัวก็ยังมีน้อย จะไม่มีทางทำสมาธิได้ หมายถึงสมาธิขั้นอุปจาระ และอัปปนาสมาธิ แต่นั่นคือการฝึกสมาธิขั้นสูงขึ้นไปซึ่งน้อยคนที่จะสามารถฝึกปฏิบัติได้ เพราะในส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยังมีภาระกังวลมาก มีงานต้องทำ มีครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ จิตก็เลยไม่สงบเพราะต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างแข่งกับเวลาแข่งกับคนอื่น เพราะฉะนั้นจึงหมดกำลังใจ ไม่คิดขวนขวายที่จะหัดสมาธิ คนทั่วไปที่ไม่สนใจในเรื่องสมาธิก็เพราะเหตุนี้ แต่อย่างไรก็ดีจะแบ่งระดับบุคคลที่ควรฝึกสมาธิไว้เป็น 4 วัยคือ
1. วัยเด็ก เป็นวัยที่กำลังเรียนหนังสือเมื่อเด็กฝึกสมาธิควบคู่ไปกับการเรียนแล้วก็จะทำให้
เรียนหนังสือดี มีความมั่นใจในตัวเอง มีบุคลิกดี สุขภาพจิตสุขภาพกายดี
2. วัยหนุ่มสาว หรือวัยนักศึกษา เป็นวัยที่กำลังจะเข้าศึกษาหรือศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย
เมื่อเขาฝึกสมาธิไปด้วยศึกษาค้นคว้าไปด้วยผลการเรียนออกมาเกรดก็จะดี เรียนก็เข้าใจรู้เรื่องในรายวิชาที่อาจารย์บรรยาย ซึ่งตรงกันข้ามกับคนขาดสมาธิอาจารย์บรรยายก็ไม่เข้าใจไม่ค่อยรู้เรื่อง
3. วัยทำงาน คนที่อยู่ในวัยทำงานก็สามารถฝึกสมาธิควบคู่ไปกับการทำงานได้เวลาทำงาน
ออกมาแล้วงานจะได้ไม่พลาดพลั้ง จะมีความละเอียดรอบคอบในการตัดสินใจในงานต่าง ๆ ที่ทำ และมีความสุขสนุกไปกับการทำงาน
4. วัยผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ควรจะปฏิบัติสมาธิอย่างจริงจังเพื่อให้มีสมาธิขั้นสูงขึ้นไปกว่าสมาธิ
ขั้นพื้นฐาน เพราะเป็นวัยที่ใกล้ฝั่งแล้ว ถ้าตัดปลิโพธกังวลได้แล้วก็อาจจะไปศึกษาปฏิบัติตามสำนักปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าไปสู่ขั้นวิปัสสนาก็ได้
อย่างไรก็ตามอยากให้คนทั่วไปได้มีสมาธิควบคู่กันไปกับการเรียนหนังสือ การทำงาน การทำ พูด คิด ไม่ต้องถึงขั้นอุปจารสมาธิ แต่ให้มีเพียงขณิกสมาธิก็พอแล้ว วิธีฝึกสมาธิสำหรับคนทั่วไปชนิดที่ทุกคนสามารถจะทำตามได้และได้รับผลด้วยตามสมควร วิธีที่จะแนะนำดังต่อไปนี้ เป็นวิธีที่ได้ผลแน่นอนเฉพาะสมาธิขั้นต้นหรือสมาธิขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ก็พอที่จะทำจิตใจให้สงบสบาย และมีสมรรถภาพในการประกอบกิจการงานต่าง ๆ ในหน้าที่ได้
สมาธิขั้นธรรมดาก็คือ เมื่อเราต้องการจะอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ต้องการจะใช้ความคิดอย่างละเอียดหรือเมื่อต้องการจะหลับ ก็สามารถที่จะผลักความคิดที่ไม่ต้องการออกไปได้ง่าย ซึ่งสมาธิขั้นนี้เป็นของจำเป็นสำหรับทุกคน โปรดอย่าชะล่าใจว่า สมาธิขั้นนี้เราก็มีอยู่แล้ว ไม่ต้องฝึกก็ได้ คนที่มีร่างกายแข็งแรงอยู่แล้วถ้าไม่หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ ร่างกายย่อมไม่แข็งแรง ข้อนี้ฉันใด คนที่มีสมาธิแม้ว่าจะอยู่ในขั้นที่ใช้การได้ แต่ถ้าไม่หมั่นฝึกไว้ สมาธิก็เสื่อมได้ง่ายฉันนั้น และถ้าหากคนไหนสมาธิเสื่อม เช่นเวลาจะนอนหลับกว่าจะหลับได้ บางทีต้องเสียเวลาตั้งชั่วโมงหรือสองชั่วโมงอย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นแล้วท่านลองพิจารณาดูด้วยตนเองก็แล้วกันว่า มันเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่เพียงไร เพราะคนที่นอนไม่ค่อยจะหลับนั้น ย่อมหมายถึงสมรรถภาพของสมองจะเสื่อมโทรมลงเร็วเกินกว่าอายุที่ควรจะเป็นและที่ร้ายที่สุดก็คือ คนที่สมาธิไม่ดีนั้น สุขภาพทางจิตจะดีไม่ได้ การฝึกสมาธิก็คอการฝึกให้มีสติอยู่กับตัว เพราะฉะนั้นหลักใหญ่ของการฝึกสมาธิจึงมีอยู่ว่าท่านกำลังพูด กำลังทำ กำลังคิดอะไรอยู่ก็ตาม ต้องพยายามหัดให้มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าขณะนี้ตนเองกำลังพูด กำลังทำ กำลังคิดอะไรอยู่