สติมาปัญญาเกิด

13 มิ.ย.52 13:50 น. ผู้ชมจำนวน 18037

สติมาปัญญาเกิด
พระราชวรมุนี (ประยูร ธมมจิตโต)


       สติทำให้เกิดสมาธิ และสมาธิทำให้เกิดปัญญา ปัญญาที่มีสมาธิเป็นฐานนั้นจะมีพลังมากมีอานิสงส์มาก พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เพราะปัญญา แต่กว่าจะตรัสรู้ได้ พระพุทธเจ้าต้องเจริญสติบำเพ็ญสมาธิ เพราะฉะนั้นฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบันอย่าใจลอย ใจต้องอยู่กับเรื่องเฉพาะหน้า ที่ต้องทำ ท่านจะมีสมาธิ แล้วสมาธินั้นทำให้เกิดปัญญา ปัญญาที่นำมาใช้ในชีวิต ประจำวัน เรียกว่าสัมปชัญญะ
       สัมปชัญญะก็คือปัญญาเฉพาะเรื่องนั่นเอง ปัญญาคือความรอบรู้ ส่วนสัมปชัญญะ ก็คือความรู้ชัดรู้จริงที่นำมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนั้นได้ ถ้าสติไม่มาปัญญาก็ไม่เกิด สติมา ปัญญาเกิด สติเตลิดก็เกิดปัญหา
       ตัวอย่างในการแก้ปัญหา เช่น ตึกถล่มที่รอยัลพลาซ่าโคราช ทุกคนในอาคาร ตกอกตกใจ บางคนช็อควิ่งพล่าน แต่มีคนคนหนึ่งรอดมาได้ เขากำลังกวาดพื้นอยู่ พอเสียงลั่นครืน แกกระโดดวิ่งไปหาเสาใหญ่ ไปหลบที่เสาเพราะคานมันจะหล่น พอคานหล่นมาก็คร่อมแกไว้ แกอยู่พิงเสาไม่ได้วิ่งไปไหน มีสติเพราะฝึกไว้ แต่บางคน ฝึกแล้วยังตกใจทำอะไรไม่ถูก สติไม่มาปัญญาก็ไม่เกิด
       สติกับสัมปชัญญะต้องมาด้วยกัน สติคือความรู้ทัน สัมปชัญญะคือความรู้เท่า ความรู้เท่าหมายถึงรู้เท่าถึงการณ์ เห็นเหตุแล้วคาดว่าผลลัพธ์อะไรจะตามมา มอง ภาพกว้าง มองหน้ามองหลัง รู้เท่าเอาไว้ป้องกัน รู้ทันเอาไว้แก้ไข พอเกิดปัญญาเฉพาะหน้าขึ้นมาไม่ว่าจะเรื่องอะไร ก็ตาม สติจะช่วยทำให้ท่านระดมปัญญามาแก้ปัญหา เช่น ขับรถบนท้องถนน ถ้าเกิด ยางแตกจะทำอย่างไร บางคนตกใจเสียสติเหยียบเบรครถเลยพลิกคว่ำ บางคน ขับรถบนท้องถนนรถบรรทุกสิบล้อพุ่งสวนเข้าใส่ท่านจะทำอย่างไร ถ้ากดแตร เขายังไม่หลบ บางคนบอกว่ารถบรรทุกแล่นในเลนเราต้องวัดใจกันหน่อย ใครดีใครอยู่ สติเป็นเครื่องกำหนดรู้ว่าเรากำลังทำอะไร บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ พอโกรธขึ้นมาแทบจะ ฆ่ากันตาย พอรู้ตัวก็ว่านี่เราถือมีดทำไม เราบ้าอะไรขึ้นมา สติจะเป็นตัวตรวจ ตรวจความ เป็นไปของเรา สัมปชัญญะจะเป็นตัวตัดสินหรือกลั่นกรองว่าอะไรควรไม่ควร เช่น เราโกรธอยากจะไปด่าเขา ถ้าเราไม่มีสติเราก็ไปด่าเขา สติจะเตือนให้เรารู้ตัวว่ากำลัง จะด่า สัมปชัญญะจะเป็นตัวเซนเซ่อร์ที่พิจารณาว่าควรด่าหรือไม่ควร
       ในเรื่องกีสาโคตมีที่เล่ามานั้นเธอได้สติรู้ตัวว่ากำลังอุ้มลูกที่ตายแล้ว สัมปชัญญะทำให้ เธอเห็นว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา
       สัมปชัญญะคือความรู้ชัด 4 ประการ คือ
       1. สาตถกสัมปชัญญะ (ยั้งคิดถึงประโยชน์ตนและท่าน)
       2. สัมปายสัมปชัญญะ (เลือกเรื่องที่เหมาะสม)
       3. โคจรสัมปชัญญะ (มีธรรมประจำใจ)
       4. อสัมโมหสัมปชัญญะ (ไม่หลงลืมตัว)
       ประการแรก สาตถกสัมปชัญญะ คือยั้งคิดถึงประโยชน์ที่จะเกิดจากการกระทำและ คำพูดของตน ก่อนที่ท่านจะทำอะไรก็ตาม โบราณสอนเราให้ยั้งคิดเสียก่อน เช่น นับ 1-10 การยั้งคิดคือสัมปชัญญะที่ตรวจสอบพฤติกรรมของตัวเอง ก่อนพูด ก่อนทำให้นึกว่าเรื่องที่จะพูดหรือทำมีประโยชน์หรือไม่ คนที่หมั่นตรวจสอบตัวเอง จะทำอะไรไม่ผิดพลาด คนทำอะไรไม่ผิดพลาดก็ไม่มีความทุกข์ความเครียด ส่วนคน ทำผิดเพราะไม่ยั้งคิด ไม่ได้นึกว่าเรื่องที่เราจะพูดจะทำออกไปนั้นมีประโยชน์ไหม สติจะบอกว่าเรากำลังทำอะไร สัมปชัญญะจะเตือนว่าเรื่องที่ทำอยู่นี้มีคุณหรือมีโทษ ให้ยั้งคิดเสียก่อน
       บางท่านทำไปตามความเคยชิน แก้ปัญหาด้วยอารมณ์ สามีหนุ่ม ภรรยาสาวที่มาจาก ครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะกัน ตัวเขาเองก็มักจะทะเลาะกัน ถ้าพ่อแม่เคยใช้ความรุนแรง แก้ปัญหาอย่างไร ลูกของเขาเวลาที่โตขึ้นแล้วแต่งงานก็มักจะแก้ปัญหาอย่างนั้น แม่เคยทำอย่างไรเมื่อทะเลาะกับพ่อ ลูกสาวก็มักจะทำอย่างนั้น เพราะว่าชินกับการ แก้ปัญหาอย่างเดียวกัน แต่ถ้ามีสัมปชัญญะสักนิด และยั้งคิดเสียก่อน พอโกรธ เป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาให้ถามตัวเองว่ามีประโยชน์อะไรไหมที่จะเอาชนะกัน พ่อแม่บางคนด่าลูกอย่างเดียว ถามว่าด่าเพื่ออะไร ตอบว่าเพื่อให้เด็กกลับตัว ถ้าเราด่าอย่างเดียว เด็กจะกลับตัวไหม ถ้ายิ่งด่าเหมือนยิ่งยุ แล้วด่าทำไม การยั้งคิด จะเกิดขึ้นและหันไปใช้เหตุผลอบรมลูก
       ถ้าท่านไปถนนสายกรุงเทพฯ-สระบุรี จะผ่านหินกอง ก่อนถึงหินกองประมาณ 1 กม. ด้านซ้ายมือจะพบอาคาร 4 ชั้นเป็นร้านอาหารร้านใหญ่ เถ้าแก่ของร้านนี้เคยอย่ตรงสี่แยก เปิดเป็นร้านเล็ก ๆ ขายของมานานแล้ว บังเอิญเป็นที่จอดรถประจำทาง จึงขายดิบ ขายดี พอขายดีได้เงินสะสมขึ้นมาก็ย้ายไปสร้างอาคาร 4 ชั้น คุณทวี วรคุณ รู้จักมักคุ้น จึงแวะรับประทานอาหาร พอรู้ว่าเถ้าแก่จะย้ายร้านจึงถามว่า
       "คนจีนเขาถือว่า ค้าขายที่ไหนทำมาค้าขึ้นแล้ว เขาจะไม่ย้ายที่แล้วนี่ย้ายห่างไปตั้งหนึ่งกิโล เมตร รถที่ไหนจะไปจอด ไม่กลัวขาดทุนหรือ"
       ถ้าแก่ตอบว่า "ไม่กลัวขาดทุน"
       "ทำไมไม่กลัว" คุณทวีซัก
       เถ้าแก่ตอบว่า "ถ้าขาดทุนถือว่าขาดทุน 4 บาท"
       "ทำไมขาดทุนน้อยจัง"
       เถ้าแก่อธิบายว่า "เพราะตอนที่แยกตัวมาตั้งครอบครัวทำธุรกิจเตี่ยให้เงินมาลงทุนแค่ 4 บาท นอกนั้นทำงานหาเงินเองตลอด ขาดทุนแค่ 4 บาท จะกลัวอะไร"
       วิธีคิดนี้เป็นสาตถกสัมปชัญญะ
       เถ้าแก่คนนี้มีเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนชีวิตอีกตอนหนึ่ง คือแกเคยเล่นการพนัน ในรอบปี หนึ่งจะไปเล่นครั้งหรือสองครั้ง ปรากฎว่าครั้งหนึ่งไปเล่น 3 วัน 3 คืนไม่กลับบ้าน ไม่บอกภรรยาด้วย หมดเงินหมื่นที่สะสมมาเป็นปี พอกลับมาบ้านภรรยาถามว่าไปไหนมา ก็ตอบว่าไปเล่นไพ่แล้วเงินสะสมเป็นหมื่นนั้นเสียพนันหมดเลย
       ตอนที่เดินทางกลับบ้านเถ้าแก่นึกในใจว่าถ้าภรรยาด่าคำเดียวจะท้าเลิกกันเลย ไหน ๆ เรา มันเลวมาแล้ว ก็ไปตามทางของคนเลว หากภรรยาพูดผิดหูคำเดียวท้าแยกทางกันเลย บังเอิญภรรยาบอกว่า "หมดแล้วก็หมดไป แต่ถ้ารู้ว่าเล่นแล้วหมดตัวก็อย่าไปเล่นอีก" ฟังแค่นี้เถ้าแก่เกิดความสงสารภรรยา คิดว่าเขาดีต่อเราอย่างนี้ เรายังจะเลวไปเล่น อีกหรือ คิดไปคิดมาเลยเลิกเล่นการพนัน ตั้งแต่นั้นมาแล้วก็ทำงานสร้างฐานะมาจน กระทั่งเป็นหลักฐานในปัจจุบัน
       ครั้งหนึ่งอาตมาไปบรรยายธรรมให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศฟัง ผู้อำนวยการ ท่านหนึ่งขับรถมาส่งที่วัดแล้วก็บอกว่า ภรรยาของผมร้องไห้มา 3 ปีแล้ว เพราะพี่ชาย เธอตาย พี่ชายของภรรยาเป็นหมออยู่สหรัฐฯ มาหัวใจวายตายกะทันหันที่เมืองไทย ร้องไห้สงสารพี่ชายที่ตาย ไม่ใช่ร้องคนเดียว แม่ยายของผมก็ร้องไห้ด้วย เจอหน้ากัน ทีไรร้องไห้ทุกที ไม่เป็นอันทำงานทำการมา 3 ปีแล้ว ผมไปเตือนไม่ได้ เธอจะหาว่า ไม่รักพี่ชายของเธอ ครอบครัวเราไม่มีความสุขมา 3 ปีแล้ว
       การร้องไห้นั้นสามารถทำได้ แต่ควรพิจารณาว่าจะเกิดอะไร ไม่ใช่ทำไปตามความเศร้า อย่างเดียว ถึงจะร้องไห้สักเท่าไรก็ช่วยอะไรไม่ได้ ญาติตายไปแล้วพระพุทธเจ้าทรง เตือนว่า "น หิ รุณฺณํ วา โสฏก วา" เป็นต้น แปลความว่า "การร้องไห้ความเศร้าโศก หรือคร่ำครวญไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ญาติผู้ล่วงลับก็คงอยู่อย่างนั้น การถวายทักษิณาทานที่ตั้วไว้ดีแล้วในพระสงฆ์จึงจะสำเร็จประโยชน์แก่ญาตินั้นตามควร แก่ฐานะตลอดกาลนาน" การยั้งคิดก่อนทำเช่นนี้จัดเป็นสาตถกสัมปชัญญะ บางคนเป็นคนอารมณ์ไม่ดี หยุดหงิดตลอดวัน คือเป็นความเคยชินอย่างหนึ่ง คนประเภทนี้ความจำดี ใครด่าใครว่าอะไรจำได้หมด เพราะจดใส่ไดอารี่ว่าวันที่เท่านั้น เวลาเท่านั้น คนนั้นด่าฉันว่าอย่างนั้น
       ท่านลองคิดดูซิว่ารถมีท่อไอเสีย มันไม่เก็บเอาสิ่งไม่ดีไว้ แต่คนเราเสียสุขภาพจิต หาก เก็บแต่เรื่องร้าย ๆ เอาไว้ในความทรงจำ เก็บความสูญเสียคนรักและความล้มเหลว ในอดีตมาเป็นปีศาจที่คอยหลอกหลอนตนเอง คนเหล่านี้เก็บแต่เรื่องร้ายเอาไว้แล้ว ก็ปล่อยมาหลอกหลอนตนเองตลอดเวลา
       อันที่จริงแล้วอดีตไม่มีความหมายในตัวเอง อดีตมีความหมายเพราะเราไปให้ค่าแก่มัน ต่างหาก ถ้าเราไม่คิดถึงอดีตก็ไม่มีความหมายอดีตผ่านไปแล้ว อนาคตยังมาไม่ถึง แล้วทำไมจะต้องไปวุ่นวายกับอดีตมองกลับอดีตอย่างมีบทเรียน หาประโยชน์จาก ความล้มเหลว ไม่ใช่ละห้อยหาอดีตมาเป็นข้อถ่วงความเจริญของตนเอง อดีตเป็น บทเรียนที่จะใช้แก้ไขปรับปรุงตนเอง ความผิดหวัง ความล้มเหลวเป็นบทเรียนได้ เพราะฉะนั้นคนบางคนโดนว่าหรืออะไรต่าง ๆ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา มารไม่มีบารมี ไม่แก่ ว่าวขึ้นสูงย่อมมีลมต้าน คนขึ้นสูงย่อมมีอุปสรรค
       ในทำนองเดียวกันในชีวิตของคนเราควรหาประโยชน์จากเรื่องต่าง ๆ อะไรไม่ดีก็ทิ้งไป ปล่อยไป เก็บแต่สิ่งที่ดีเอาไว้ บางคนถูกด่าถูกว่าแล้วเก็บเอามาคิดมาแค้น เหมือนกับ เพื่อนบ้านปาเมล็ดตำแยใส่บ้านของเรา แทนที่เราจะกวาดให้พ้น ๆ ไป บางคนหาที่ เหมาะ ๆ ในบ้านมาเพาะตำแยเลย รดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย พอตำแยออกดอกออก เมล็ดแล้วใครคัน เราคันเอง คนด่าคนว่าเหมือนคนปาเมล็ดตำแยให้นิดเดียว แต่เรามา เพาะเพิ่มเอง เขาด่าเราตั้งแต่บ่ายสองโมงจนล่วงมาตีหนึ่งตีสองแล้วเรายังนอนไม่หลับ เพราะตำแยงอกในหัวใจ ต้องหมุนโทรศัพท์ไปด่าเขากลับคืน ไม่เช่นนั้น นอนไม่หลับ ทำไมเราไม่ปัดให้พ้น ๆ ไป มีประโยชน์แค่ไหนที่จะเก็บเอาไว้ควรลืมและให้อภัยกัน

ถ้าไม่มีการให้อภัยผิด
และไม่คิดที่จะลืมซึ่งความหลัง
จะหาสามัคคียากลำบากจัง
ความผิดพลั้งย่อมมีทั่วทุกตัวคน
       ประการที่สองคือ สัปปายสัมปชัญญะ หมายถึง เลือก เรื่องที่เหมาะสมกับตนเอง นั่นคือ นอกจากเราจะไม่เก็บเรื่องร้าย ๆ เก็บแต่เรื่องดี ๆ ไว้ในใจแล้ว ก่อนจะทำอะไรก็ตามให้ เลือกสิ่งที่เหมาะสมกับเรา โบราณสอนว่า เห็นเขาขึ้นคานหาม อย่าเอามือประสานก้น คนทำการใหญ่เกินตัวเอง เกินความสามารถโดยไม่มีคนช่วย บางทีทำไปนาน ๆ เข้าก็ทน ไม่ไหว เกิดความท้อแท้ เพราะฉะนั้นต้องเลือกวิธีที่ชื่อว่าสัปปายะ
       สัปปายะเป็นภาษาบาลี ตรงกับภาษาไทยว่า สบาย คือพอเหมาะกับตัวเรา ที่ดินราคาแพง แล้วใครได้ประโยชน์ ชาวบ้านต่างจังหวัดขายทีดินกันหมดแล้ว คนกรุงเทพฯ ไปซื้อ ที่ดิน คนชนบทขายที่ดินไปซื้อรถขับฉุยฉายไปมาแล้วรถชนกัน พอหมดเงินก็ไปเป็น ลูกจ้าง ที่ดินสูญไป เกิดความเครียดมีปัญหาครอบครัวตามมา ประเด็นก็คือว่า อะไร เหมาะกับชีวิตของชาวบ้าน การโฆษณาทำให้ชาวบ้านชอบความฟุ้งเฟ้อเกินฐานะจนเป็น หนี้สิน
       ลองพิจารณาว่า คนกรุงเทพฯ สมัยนี้มีความสุขกว่าคนกรุงเทพฯ เมื่อ 100 ปีก่อน หรือเปล่า คนสมัยนี้โลภกันมากขึ้น เพราะโฆษณาที่โหมเข้ามา ฝ่ายขายก็ต้องการจะขาย มากขึ้น ผู้บริโภคไม่ใช้ให้เหมาะกับฐานะของตัวเองทำให้เครียดกันมากขึ้น ความสุข ของชีวิตไม่ได้อยู่ที่วัตถุอย่างเดียว แต่อยู่ที่ความพอดี ความเหมาะควร คือเหมาะกับ ตัวเรา เพราะไม่รู้ความเหมาะสมคนจึงมีปัญหา ยิ่งเศรษฐกิจพัฒนามากขึ้น คนก็ยิ่ง ฆ่าตัวตายมากขึ้น เป็นโรคจิตมากขึ้น เพราะคนไม่รู้ว่าอะไรคือเหมาะกับตน วิ่งตามแฟชั่น ดูโฆษณาต่าง ๆ ก็นึกว่าได้อย่างนั้นจึงจะดี แต่ความสุขของคนไม่ได้อยู่ที่วัตถุภายนอก อย่างเดียว
       ความสุขไม่ได้ไปขึ้นอยู่กับความสำเร็จ และความทุกข์ก็ไม่ผูกติดกับความล้มเหลว คนที่ล้มเหลวอาจจะมีความสุขก็ได้ถ้ารู้จักปล่อยวางยืดหยุ่น คนประสบความสำเร็จ อาจจะเดรียดหนักก็ได้ เพราะกลัวจะล้มเหลว ความสุขจึงไม่ได้อยู่ที่ความสำเร็จ อย่างเดียว
       ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในป่า มีเจ้าชายองค์หนึ่งมาเห็นก็สงสัยและถามว่า ทำไม พระองค์มาอยู่ในป่า เป็นเจ้าชายอยู่ในวังกลับไม่ชอบ อยู่ในรั่วในวังน่าจะมีความสุข มากกว่ามาอยู่กลางดินกินกลางทราย พระพุทธเจ้าก็เลยถามกลับว่านี่เธอ ลองเทียบ กันดูสิ เธอก็รู้จักพระพุทธเจ้าพิมพิสาร ลองเทียบดูระหว่างเราตถาคตกับพระเจ้า พิมพิสาร ตอนนี้ใครมีความสุขากกว่ากัน เจ้าชายองค์นี้ตอบโดยไม่ต้องคิดว่าพระองค์ มีความสุขมากกว่าพระเจ้าพิมพิสาร
       ขอให้เปรียบเทียบกับเรื่องสมัยนี้อีกเรื่องหนึ่ง
       มีผู้ชายแก่ ๆ คนหนึ่ง นั่งอยู่ริมท่าน้ำหน้าวัด วันนั้นเป็นวันทอดกฐิน เถ้าแก่จากกรุงเทพฯ ยกคณะกฐินไปทอด พอพระฉันเพลก็เดินไปที่ศาลาท่าน้ำเห็นชายชราคนนี้ เสื้อก็ไม่ใส่นั่ง ทอดหุ่ยอยู่ไม่ทำอะไร นาน ๆ ก็จะหักกิ่งไม้โยนลงไปในแม่น้ำ เถ้าแก่นึกว่าคนนี้ไม่รู้จักใช้ แรงงานให้เป็นประโยชน์ นั่งเฉย ๆ อยู่ถึงไม่พัฒนา เถ้าแก่ก็ขึ้นไปบนศาลา พอถวาย ผ้ากฐินเสร็จก็ลงมาเพื่อขึ้นรถกลับกรุงเทพฯ เถ้าแก่ก็แวะไปดูชายชราคนนั้นอีก พบว่า ยังนั่งอยู่ที่เดิม ข้าวปลาไม่รู้จักไปกิน นั่งอยู่เฉย ๆ เถ้าแก่ทนไม่ได้ก็เลยถามว่า "ลุงทำอะไรอยู่นี่"
       ลุงแกก็บอกว่า "ไม่มีตาดูหรือไง ก็นั่งอยู่นี่แหละ"
       เถ้าแก่ชักฉุน ถามดี ๆ มาตอบอย่างนี้ คนแปลก ๆ อย่างนี้ก็มี ถามว่า "นั่งเฉย ๆ ทำไม งานการไม่ทำ วันนี้วัดทอดกฐิน ทำไมไม่ไปช่วยดูแลทำงานทำการ บ้างซิลุง"
       ลุงถามว่า "ทำงานไปทำไมล่ะ"
       "เอ้า! ทำงานก็จะได้มีเงินใช้ซิลุง"
       "มีเงินใช้แล้วเป็นอย่างไรเล่า"
       "จะได้มีความสุข"
       "สุขเป็นอย่างไรล่ะ" ลุงถาม
       "สุขก็คืออยู่สบาย ๆ ไม่ต้องทำอะไร" เถ้าแก่ตอบ
       "นี่สุขแล้วไง จะให้เราไปวิ่งเต้นแร้งเต้นกาเป็นโรคประสาทเหมือนเถ้าแก่หรือ" ลุงย้อนถาม
       ลุงคนนี้รู้ว่าอะไรเหมาะกับตน บางทีเราไม่รู้ว่า เราแสวงหาอะไร อะไรคือความสบาย ลองนึกดูชีวิตเราต้องการอะไรที่แท้จริงแล้วทำในสิ่งที่เหมาะสบายกับเรา แล้วเรา ก็จะมีความสุข
       บางทีเสียงนกร้อง เสียงเด็ก ภาพสวย ๆ งาม ๆ มีให้เราเห็นตลอดถ้าเรารู้จัก เปิดรับสิ่งที่ดีงาม ใจเราจะมีความสุขตลอดเวลา
สุขและทุกข์อยู่ที่ใจไม่ใช่หรือ
ถ้าใจถือก็เป็นทุกข์ไม่สุขใส
ถ้าไม่ถือก็ไม่ทุกข์พบสุขใจ
เราอยากได้ความสุขหรือทุกข์กัน
       ประการที่สามคือ โคจรสัมปชัญญะ หมายถึงมีธรรมะประจำใจ คนที่จะมีสุขภาพจิตดี จะต้องมีธรรมะประจำใจตลอดเวลา เขาเรียกว่ามีภูมิคุ้มกัน ถ้าท่านไม่มีภูมิคุ้มกันอันนี้ กระทบกระเทือนอะไรแล้วมันช็อค มันหัก มันพัง ภูมิคุ้มกันในจิตใจนั้นคือ ต้องฉีดวัคซีน เข้าไป วัคซีนในจิตก็คือธรรมะประจำใจ เมื่อท่านจะทนกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษได้ เพราะมีความแข็งแรงทนทานและยืดหยุ่น
       บางคนถือคติว่า ล้มเพราะก้าวไปข้างหน้า ดีกว่ายืนเต๊ะท่าอยู่กับที่ หรือเถ้าแก่หินกอง บอกว่าถ้าขาดทุน ก็ขาดทุน 4 บาท คติธรรมอะไรก็ได้มีไว้ประจำใจ นโบเลียนมีคติ สอนใจตัวเองว่า คนไม่ทำอะไรผิดคือคนที่ไม่ทำอะไรเลย ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เขาผ่านร้อน ผ่านหนาวเขาจะมีคติธรรมประจำใจ มีคติอยู่อันหนึ่งที่อาตมาใช้เป็นเครื่องเตือนใจ เหมือนกัน คือเราจะศึกษามากอย่างไรก็ตาม เราจะต้องเตือนใจอยู่ข้อหนึ่ง คือคติธรรม ว่า คิดสูงให้ถึงดวงดาว แต่สองเท้าต้องติดดิน ในการทำงานหรือการบริหารเท้าต้อง ติดดินอันนี้ก็จะเตือนใจเราตลอดเวลา คนเรามักพูดว่านักปรัชญาพูดอะไรไม่รู้เรื่อง มันเป็นปัญหาอย่างหนึ่งคือไม่ติดดิน ถึงแม้ว่าเราจะศึกษาธรรมะขั้นสูงมา แต่จะต้อง พูดให้คนฟังรู้เรื่อง ต้องติดดิน อันนี้คือ คติประจำตัวเอง
       ประการสุดท้าย อสัมโมหสัมปชัญญะ หมายถึงการฝึกใจไม่ให้หลงลืม ต้องใช้ธรรมะ ประจำใจ ไม่ให้เกิดความหลงลืม พอเจอสถานการณ์ที่เป็นปัญหา เราจะรู้ต้องใช้ ธรรมะอะไรทันที เรายั้งคิดก่อนแล้วเอาธรรมะเข้ามาสอนตัวเองตลอดเวลา ปกติ บางคนเวลาทะเลาะกับใครจะโกรธมากจนลืมตัว บางท่านเพื่อไม่ให้หลงลืมเรื่อง ปฏิบัติธรรม จึงให้เลขานุการหรือเพื่อนช่วยจดบันทึกหรือคอยเตือนความจำ ดังเรื่อง พระเจ้าปเสนทิโกศลไปขอคาถาลดน้ำหนักจากพระพุทธเจ้า เพราะน้ำหนักเพิ่มเหลือเกิน จึงขอคาถาลดน้ำหนักจากพระพุทธเจ้า แม้เรื่องลดน้ำหนักก็เทศน์ให้ฟัง ทีนี้พระพุทธ เจ้าก็เทศน์ว่า
มะนุชัสสะ สะทา สะตีมะโต
มัตตัง ชานะโต ลัทธะโภชะเน
ตะนุกุสสะ ภะวันติ เวทะนา
สะณิกัง ชีระติ อายุ ปาละยัง
       แปลความว่า มนุษย์ผู้ใดมีสติรู้ตัวตลอดเวลา รู้ประมาณในโภชนะที่ได้มารับประทาน ผู้นั้นจะมีเวทนาเบาบาง เขาจะแก่ช้าและมีอายุยืน
       พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพอพระทัยคาถาลดน้ำหนักนี้มาก ถึงกับรับสั่งให้มหาดเล็กชื่อ สุทัสสนมาณพท่องจำคาถาให้แม่นยำ และให้สุทัสสนมาณพยืนอยู่ข้างโต๊ะเสวย หาก มาณพเห็นว่าพระองค์เสวยพระกระยาหารเกินกำหนด ก็ท่องคาถาออกมาดัง ๆ หลัง จากนั้น ปรากฏว่าเวลาที่มาณพท่องคาถาออกมา พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงได้สติหยุด เสวยพระกระยาหารทันที ทรงลดปริมาณพระกระยาหารลงทุกวัน โดยวิธีนี้ในที่สุด พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงลดและคุมน้ำหนักได้สำเร็จ เพราะอาศัยสุทัสสนมาณพคอย ท่องคาถาเตือนให้นึก ถึงการควบคุมพระกระยาหาร และที่สุทัสสนมาณพกล้าท่อง คาถาข้างโต๊ะเสวย ก็เพราะพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงประทานอนุญาตไว้นั่นเอง เรื่องนี้แสดงถึงคุณค่าของกัลยาณมิตรผู้ช่วยเตือนจิตสะกิดใจไม่ให้หลงลืมธรรมะ ถ้าใครช่วยเตือนไม่ได้ เราก็เตือนตัวเองโดยหาคติธรรมประจำไว้สอนใจ
       ผู้มีคติธรรมประจำใจย่อมมีเครื่องยับยั้งชั่งใจและมีธรรมะไว้ป้องกันและแก้ไขปัญหา ในสถานการณ์ต่าง ๆ แม้บางครั้งสถานการณ์อาจจะไม่ตรงกับธรรมะนัก แต่ก็ปรับ เข้าหากันได้ ประเด็นอยู่ที่ว่าท่านควรฟังธรรมะให้มาก ศึกษาธรรมะให้มาก เมื่อถึง เวลาจะเห็นคุณค่าของธรรมะต่าง ๆ ที่ออกมาช่วยเราให้ผ่านพ้นปัญหาชีวิตได้

หัวข้ออื่นๆ

พลังแห่งสมาธิสติมาปัญญาเกิด

© Copyright 2007-2012 www.Watdon.net All rights reserved.