ประวัติเจ้าอาวาสวัดดอน

30 ก.ค.52 23:23 น. ผู้ชมจำนวน 32767

สมภารเจ้าวัด

 

สมภารเจ้าวัดนี้ เดิมทีมีแต่พระทวายที่เป็นสงฆ์อาวุโสผู้ใหญ่ ทำหน้าที่ปกครองดูแล โดยมีวัตรปฏิบัติตามธรรมเนียมพระทวาย สืบเชื้อสายกันเรื่อยมา เป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่สามารถจักค้นหาประวัติให้แน่ชัดลงไปว่าสมภารเจ้าวัดทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่พระยาทวายเป็นมรรคนายกสร้างวัดนี้คือใครบ้าง ได้เค้าความแต่เพียงว่า พอท่านมังจันจ่าสร้างวัดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๔๐ แล้ว ก็มีพระทวายอยู่เป็นประจำ

มีธรรมเนียมข้อวัตรปฏิบัติแบบอย่างพระทวาย จนตกมาถึงสมัยที่วัดดอนหลังบ้านทวาย ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานนามให้ใหม่ว่าวัดบรมสถลนั้น ท่านสมภารชื่อทุ้ย เป็นชาวทวายโดยกำเนิด พอได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ก็อยู่ประจำที่วัดนี้ ครั้นมีอายุบรรพชาสมควรแล้ว ก็รับหน้าที่ปกครองวัดเป็นสมภารนานนักหนา จนมีฉายาที่คนทั้งหลายในชั้นหลังเรียกกันว่าปู่เฒ่า เพราะเจ้ากูบวชเป็นสมภารครองวัดมานาน จนแก่เฒ่าเข้าเกณฑ์ชราภาพมาก

 

วัดดอนสมัยท่านปู่จั่น

 

ครั้นท่านปู่เฒ่าอาจารย์ทุ้ย ถึงแก่มรณภาพล่วงลับไปตามธรรมดาของสังขาร พระอาจารย์จั่น ฉายาว่า จนฺทสโร ก็รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดสืบมา ท่านอาจารย์จั่นผู้นี้ ก็มีชาติกำเนิดเป็นชาวทวายแท้ เกิดที่บ้านทวาย พอเจริญวัยอายุครบปีบวช ก็ได้รับบรรพชาอุปสมบท แล้วอยู่จำพรรษาที่วัดดอนสืบมา จนได้เป็นสมภารเจ้าวัด เป็นพระอธิการจั่น จนฺทสโร

เล่ากันว่า ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยฝักใฝ่ในทางกสิณภาวนา จนปรากฏว่ามีวิชาอาคมขลัง ตามแบบอย่างสมภารเจ้าวัดในสมัยนั้น และเป็นผู้เคารพมั่นในภาระหน้าที่เป็นยิ่งนัก หากมีคำสั่งจากทางการคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ปฏิบัติประการใด ท่านเป็นต้องเอาใจใส่กวดขันพระลูกวัด ให้ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดไม่ประมาทเลย

ก็แลเพราะความเคร่งครัดในหน้าที่เจ้าอาวาสเพื่ออนุวัตรตามคำสั่งทางการคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ของท่านอธิการจั่น เจ้าอาวาสวัดดอนนี่เอง จึงเป็นเหตุให้เกิดมีกรณีขับไล่พระพม่าออกจากวัดดอน จนเป็นเรื่องอื้อฉาวเดือดร้อนใหญ่โต ไปจนถึงขั้นมหาเถรสมาคม อันเป็นสถาบันการปกครองขั้นสูงสุดแห่งคณะสงฆ์ไทยสมัยปีพุทธศักราช ๒๔๕๖

 

ท่านปู่จั่นขับไล่พระพม่า

 

มูลกรณีที่จะเกิดมีการขับไล่พระพม่า ให้ออกไปจากวัดดอนจนเกิดเรื่องใหญ่โตขึ้นนั้น ก็มีอยู่ว่าเมื่อท่านมังจันจ่าพระยาทวายสร้างวัดดอนขึ้นแล้ว เดิมทีก็มีพระทวายพวกเดียวอยู่ประจำ โดยมีพี่น้องชาวทวายและชาวไทยซึ่งอยู่บ้านใกล้เคียงให้ความอุปถัมภ์บำรุง

ครั้นจำเนียรกาลล่วงมา ชาวพม่าไม่มีวัดเป็นของตนเองในกรุง แต่ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนคนนับถือพระบวรพุทธศาสนา จึงพากันมาทำบุญที่วัดนี้ เมื่อมีพระภิกษุพม่าซึ่งเดินทางมาจากพุกามประเทศ เข้ามาเยี่ยมเยียนญาติโยมที่เมืองไทย จึงมาขออาศัยพักอยู่ที่วัดนี้ เพราะค่าที่วัดพระทวายมีเชื้อสายเป็นชาวพุกามประเทศด้วยกันมาก่อน ตอนแรกก็เป็นปรกติดีอยู่ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ตกมาถึงปีพุทธศักราช ๒๔๑๙ อูส่วยจัดทายกชาวพม่า พิจารณาเห็นว่าการที่พระพม่ามาขอพักอาศัยอยู่กับท่านสมภารเจ้าวัดดอนครั้งละนาน ๆ ย่อมอึดอัดไม่สะดวกทั้งผู้อาศัยและผู้ให้พัก จึงมีศรัทธาขออนุญาตถางที่รกด้านเหนือวัด ปลูกกุฏิขึ้นเป็นหลังแรก เพื่อให้เป็นที่อาศัยพักของพระพม่าที่เดินทางมาจากเมืองไกล พระพม่าจึงได้อาศัยกุฏิหลังนั้นพักอยู่กันเรื่อยมา รูปเก่าจะไปก็มอบหมายให้รูปใหม่อยู่แทน แต่ไม่ได้ทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกับพระทวายเจ้าวัด

ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ สังฆมณฑลไทยอันมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกวัดในกรุงเทพ เข้าในคณะกลาง และจัดเป็นแขวงตามท้องที่อำเภอ วัดดอนตกอยู่ในแขวงบางรัก มีพระราชาคณะซึ่งปรากฏตามราชทินนามว่าพระราชมุนี เป็นเจ้าคณะแขวง

ก็นโยบายของสังฆมณฑลไทยสมัยนั้น ต้องการให้วัดทั้งหลายปฏิบัติตามธรรมวินัยโดยเคร่งครัด วัดหนึ่ง ๆ ให้มีพระเป็นนิกายเดียวกัน กล่าวคือร่วมอุโบสถสังฆกรรมด้วยกันได้ ไม่ให้วิวาทด้วยเรื่องถือนิกาย จึงมีคำสั่งให้เจ้าอาวาสวัดปฏิบัติเป็นกฎธรรมเนียมว่า พระผู้ต่างนิกายไม่ยอมร่วมอุโบสถสังฆกรรมกับพวกพระเจ้าของถิ่น จัดเป็นอาคันตุกะ จะมีสิทธิ์อาศัยวัดเจ้าของถิ่นได้เพียง ๓ เดือน พ้นกำหนดแล้วต้องออกจากวัดนั้นไปอยู่ที่อื่น

พระอุปัชฌาย์จั่นผู้เคร่งครัดเจ้าอาวาสวัดดอน พอได้รับคำสั่งดังนี้ ก็ไม่รอช้ารีบแจ้งให้พระพม่า ซึ่งเวลานั้นพักอาศัยอยู่ที่วัดดอนสองรูป คือ พระมินอ่องและพระม่องละ ให้เข้ามาร่วมทำอุโบสถสังฆกรรม แต่ท่านทั้งสองนั้นเพิกเฉยอยู่ แม้จะบอกซ้ำอีกก็ยังเพิกเฉยอยู่ตามเดิม ไม่ยอมมาร่วมอุโบสถสังฆกรรมร่วมกับพระทวายเจ้าของถิ่น พอพ้นกำหนด ๓ เดือน ท่านอธิการจั่นเจ้าอาวาสวัดดอนผู้เคารพคำสั่งของสังฆมณฑลไทย จึงขับไล่พระพม่าทั้งสองรูปนั้นให้ออกไปจากวัดทันที

ก็เลยเกิดกรณีกันขึ้นเป็นเรื่องราวอื้อฉาวกว้างขวาง โดยทางพระพม่าที่ถูกไล่ เพราะไม่ร่วมเข้าอุโบสถสังฆกรรมตามนโยบายของสังฆมณฑลไทยนั้น ให้ทายกพม่ายื่นเรื่องราวไปทางกงสุลอังกฤษ มิสเตอร์ฟิสมอริส ผู้แทนกงสุลอังกฤษ จึงมีหนังสือถึงพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เรื่องดำเนินไปขึ้นสูงสุดถึงมหาเถรสมาคม จึงมีพระมหาสมณวินิจฉัยลงมา เรื่องจึงสงบลงไป เพื่อให้เป็นหลักฐานไว้ จักขอนำเอาพระมหาสมณวินิจฉัย เรื่องพระพม่าถูกไล่จากวัดดอน จากแถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๑ หน้า ๔๑๐ พ.. ๒๔๕๖ มารวบรวมไว้ในที่นี้ดังต่อไปนี้

 

พระมหาสมณวินิจฉัยในเรื่องพระพม่าถูกไล่จากวัดดอน

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ศรีสุคตขัตติยพรหมจารี ฯลฯ บรมนารถบพิตร พระมหาสมณะ เสด็จประทับในเถรสมาคม ณ ตำหนักจันทร์ วัดบวรนิเวศวิหาร ประทานพระมหาสมณวินิจฉัยในเรื่องราวของ มองเมียดสา ทายกพม่า เรื่องพระพม่าถูกไล่จากวัดดอนบ้านทวาย แขวงบางรัก กรุงเทพฯ ดังต่อไปนี้

 

ความเดิม

 

. เมื่อศกหลังพระพม่า ๒ รูป ผู้เข้าอยู่ในวัดดอน ตำบลบ้านทวาย อำเภอบางรัก กรุงเทพฯ ชื่อ ธรรมอินทระ หรือ มินอ่อง ๑ ชื่อเวสยะ หรือ ม่องละ ๑ ไม่ยอมร่วมอุโบสถสังฆกรรมกับพวกพระทวายในวัดเดียวกันนั้น พระเทพสุธี ครั้งยังเป็นพระราชมุนี เจ้าคณะแขวงบางรัก ได้ชักโยงจะให้เข้ากันได้ พระสองฝ่ายนั้นยอมตาม ได้ทำหนังสือยอมไว้แล้ว แต่ภายหลังพระพม่า ๒ รูปนั้น หาเข้าอุโบสถไม่ พระอธิการจั่นในฝ่ายพวกทวาย จะให้ออกเสียจากวัดเจ้าคณะแขวงอนุมัติตาม

. มิสเตอร์ฟิสมอริส ผู้แทนกงสุลอังกฤษ มีหนังสือถึงพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ขอให้ช่วยเหลือเกลี่ยไกล่

. พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ สอบถามไปยังเจ้าคณะแขวง ได้ความแล้ว เห็นว่าเป็นเวลาในพรรษา สั่งขอให้อยู่ไปตลอดพรรษา และสั่งต่อไปว่า ถ้าขัดข้องอย่างไร ให้นำความมาแจ้งแก่เรา

. เจ้าคณะแขวงนำความนั้นแจ้งแก่เรา ๆ สั่งให้ทำตามธรรมเนียมที่ตั้งไว้ คือ พระผู้ไม่ยอมร่วมอุโบสถสังฆกรรม กับพวกพระเจ้าของถิ่น ให้ถือว่าเป็นอาคันตุกะ คือผู้จรมาอาศัย ให้อยู่อาศัยได้เพียง ๓ เดือน พ้นจากนั้นให้ออกจากวัดนั้น แต่พระพม่าไม่มีวัดอยู่ ให้เจ้าคณะแขวงพาไปฝากให้อยู่ที่วัดอื่น

.พอออกพรรษาแล้ว เจ้าคณะแขวงบอกให้พระพม่า ๒ รูป นั้นออกจากวัดดอน เพื่อจะให้อยู่ที่วัดอื่น

.มองเมียดสา ในชื่อของพวกทายกพม่า ยื่นเรื่องราวทางกงสุลอังกฤษบ้าง ในความว่าพวกทายกพม่า ได้ถางรกปลูกกุฏิและศาลาด้วยทรัพย์ของเขามอบถวายพระพม่า อยู่ต่อกันมา จนถึงพระ ๒ รูปนี้นานมาแล้ว เมื่อแรกเขาเข้ามากรุงเทพฯ ราว ๑๙ ปีมาแล้ว ได้เห็นกุฏิหมู่นั้นพระพม่าอยู่มาแล้ว ต่อมาเขาเองก็ได้สร้างกุฏิและศาลาเหมือนกัน พระพม่าได้อยู่มาตามลำพัง ไม่เคยได้อยู่ในปกครองของใคร รูปก่อนจะไป ก็ได้มอบแก่รูปหลังอยู่ต่อไป สถานที่พระพม่าตั้งอยู่นั้น ต่างจากวัดดอน มีหนทางคั่นกลางและอ้างว่าได้รับพระราชทานธรรมาสน์เมื่องานพระบรมศพด้วย เจ้าคณะแขวงก็ดี พระทวายก็ดี ไม่มีอำนาจจะไล่พระพม่า และไม่มีอำนาจในหมู่กุฏิที่เป็นของพวกทายกพม่าสร้าง ของดการขับไล่ และขออนุญาตให้พระพม่าได้อยู่ ณ ที่นั้นไปตามเดิม

 

ความที่พิจารณาได้

 

. คำในเรื่องราวของพวกทายกพม่า (หมาย ๕ ) และคำของพระอธิการจั่นในฝ่ายพระทวาย (หมาย๘–ข) รับต้องกันว่า สถานที่ตั้งวัดดอนนั้น เป็นที่หลวง ครั้งรัชกาลที่ ๑ พระราชทานให้พวกทวายอยู่ ยังคำของพระอธิการจั่นกล่าวต่อไปว่า พระยาทวายชื่อมังจันจ่า ได้สร้างวัดดอนขึ้นนั้น

. เขตวัดดอนนั้น แผ่ตลอดทั่วทั้งสำนักพระทวาย ทั้งสำนักพระพม่าเป็นวัดเดียวกัน ตามข้อที่พิสูจน์ได้ดังต่อไปนี้

. คูในระวางหลังสำนักพระพม่าและป่าช้าจีน (ด้านเหนือ) ที่ขุดใหม่แล้วนั้น รับต้องกันทั้งฝ่ายทวายทั้งฝ่ายทายกพม่า ว่ามีมาก่อน เป็นแต่พวกจีนขุดให้กว้างออกไป เมื่อเป็นเช่นนี้ วัดนั้นมีคูหรือท้องร่องล้อมรอบ ด้านเหนือกับด้านตะวันออก พวกจีนขุดให้กว้างออกไป เป็นเครื่องปันเขตวัดดอนกับป่าช้าจีน ด้านใต้เป็นท้องร่องมีน้ำ เป็นเครื่องปันเขตวัดกับบ้าน ด้านตะวันตกเป็นท้องร่องมีน้ำบ้าง เขินบ้าง เป็นเครื่องปันเขตวัดกับชาวบ้านเหมือนกัน

. ทางเดินที่ตัดจากถนนเจริญกรุง ผ่านบ้านเข้ามาในวัด เป็นเครื่องปันสำนักพระทวายกับพระพม่านั้น มาสุดลงที่ป่าช้าอันตั้งอยู่ในเขตวัด มุมด้านเหนือกับด้านตะวันออกต่อกัน หาได้ตัดข้ามคูไปถึงป่าช้าจีนไม่ โดยนัยนี้ เป็นถนนตัดเข้าวัด

.ทางเดินตัดเข้าไปเช่นนั้นแล้ว พวกพระทวายจึงอยู่แต่ด้านใต้แห่งทาง ปล่อยด้านเหนือไว้ให้เป็นที่รก ที่พวกพม่ามาถางปลูกกุฏิเป็นสำนักพระพม่า ที่รกด้านใต้และด้านตะวันตกที่อยู่ในปกครองของพระทวายก็ยังมีเป็นพยาน

. ป่าช้าคือที่เผาศพอยู่ด้านเหนือแห่งทางเดิน แนวเดียวกับสำนักพระพม่า

. อุโบสถก็ดี โรงธรรมก็ดี ป่าช้าที่เผาศพก็ดี เป็นอันเดียวกัน ความใช้เป็นวัดอันเดียวกันของคน ๒ ฝ่ายก็ยังมีพยานปรากฏ เช่น พระเจดีย์ที่พวกพม่าสร้างไว้ (ไม่นานเท่าไร) ในที่ใกล้ป่าช้าด้านใต้แห่งทางเดินอันเป็นเขตของพระทวาย และธรรมาสน์เมื่อคราวงานพระบรมศพตั้งอยู่ในโรงธรรมสภาเดียวกัน

. ในตำบลบ้านติดกับวัดหรือใกล้ พวกทวายยังตั้งเป็นปึกแผ่น พวกพม่านอกจากมองเมียดสาแทบไม่มีเลย

. โรงธรรมสภาก็ดี โรงตั้งศพก็ดี ตั้งอยู่ริมทางไม่มีชานพอจะล้อมรั้วปันเขต

. แต่มีบางข้อจะนำให้เห็นว่า เขตวัดดอนเพียงทางเดิน คือ กอไผ่ริมคูหรือทองร้องแนวด้านตะวันตก ไม่ได้เลยออกไปทางสำนักพระพม่า วกเข้าริมทาง แต่ข้อนี้ไม่ลบล้างข้อที่พิสูจน์ได้

๑๐. ธรรมาสน์คราวงานพระบรมศพ ได้รับพระราชทานเป็น ๒ ที่นั้น สอบถามได้ความว่าเจ้าหน้าที่เข้าใจว่าเป็นฝ่ายละวัด คือต่างตำบลกัน

๑๑. อย่างไรก็ดี พวกทายกพม่าก็ไม่ได้ร้องเถียงถึงที่ดินและคำ (หมาย ๗) ของอุสอยอัดทายกคนแรกสร้างกุฏิใหญ่ (หมาย ฉ.ในแผนที่) ก็ว่าที่ดินนั้นไม่ได้ซื้อ จางวางชื่อนายทองเซ็ง (หลวงศรีณรงค์คนก่อน บิดาหลวงศรีณรงค์เดี๋ยวนี้) อนุญาตให้ปลูก

๑๒. วัดนี้สร้างขึ้นสำหรับพวกทวายก่อน มีพระทวายอยู่ จำเนียรกาลล่วงมา พระทวายมีน้อยลง จึงได้รับพระไทย และพระชาติอื่นเข้าไว้ด้วย แต่เข้าอุโบสถสังฆกรรมด้วยกันได้ ต่อนี้ไปจะเรียกว่าพระทวายเพราะประพฤติตามแบบพระทวาย

๑๓. พวกพม่าไม่มีวัด จึงได้มาทำบุญที่วัดนี้ เมื่อพระพม่าเข้ามาในกรุง ก็ขอให้อาศัยอยู่วัดนี้

๑๔. เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๙ (จุลศักราช ๑๒๓๘) อุสอยอัดได้อนุญาตจากหลวงศรีณรงค์คนเก่า (ทองเซ็ง) ถางที่รกนอกทางเดินด้านเหนือ ในคูหรือร่องของวัดดอน ปลูกกุฏิขึ้นเป็นครั้งแรก และพวกทายกพม่าสร้างต่อมาอีก เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของพระพม่า จึงเกิดมีสำนักพระพม่าขึ้นที่วัดดอน

๑๕. พระพม่านั้น ไม่ได้ทำอุโบสถสังฆกรรมกับพวกพระทวาย นอกจากรูปหนึ่งซึ่งชื่อจันทิมาที่ว่าเป็นพม่าบวช ณ วัดนั้น ฝ่ายพระทวายก็ไม่ได้แผ่ความปกครองมาถึงพระพม่า ต่างฝ่ายต่างอยู่ พระพม่าอยู่ต่อกันมา รูปเก่าจะไปก็มอบให้รูปใหม่อยู่ต่อมา ไม่ได้อยู่ในดูแลของใคร

๑๖. เมื่อ ศก ๒๓๕๔ สังฆมณฑลได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกวัดในกรุงเทพฯ เข้าในคณะกลาง และจัดเป็นแขวงตามท้องที่อำเภอ วัดดอนตกอยู่ในแขวงบางรัก ที่พระเทพสุธี เดิมเป็นพระราชมุนี เป็นเจ้าคณะ

๑๗. ความมุ่งหมายของสังฆมณฑล จะจัดการปกครองให้ทั่วถึงและในวัดหนึ่งๆ จะให้มีพระที่เป็นนิกายเดียวกัน กล่าวคือ ร่วมอุโบสถสังฆกรรมด้วยกันได้ เพื่อจะป้องกันวิวาทด้วยเรื่องถือนิกาย จึงตั้งธรรมเนียมไว้ว่า พระผู้ต่างนิกายไม่ยอมเข้าอุโบสถสังฆกรรมกับพวกเจ้าของถิ่น จัดเป็นอาคันตุกะ จะอาศัยวัดต่างนิกายของตนได้เพียง ๓ เดือน พ้นกำหนดนั้นแล้วต้องออกจากวัดนั้นไปอยู่ที่อื่น

๑๘. พระธรรมอินทระหรือมินอ่อง และพระเวสยะหรือม่องละ ไม่ยอมเข้าอุโบสถและสังฆกรรมกับพวกพระทวายเจ้าของถิ่น พระอธิการจั่นฝ่ายทวาย จึงบอกให้ออกเสียจากวัด เจ้าคณะแขวง จึงคิดจะย้ายไปไว้วัดอื่น มองเมียดสาจึงร้องคัดค้านว่า กุฏิและศาลานั้นเป็นของพวกทายกพม่าสร้าง เจ้าคณะแขวงก็ดี เจ้าวัดก็ดี ไม่มีอำนาจจะไล่ ขอให้พระพม่าได้อยู่ต่อไป

 

วินิจฉัย

 

๑๙. เงื่อนที่จะพึงวินิจฉัย กระทงแรกคือ กุฏิและศาลา ซึ่งต่อนี้ไปจะเรียกว่าเสนาสนะที่พวกทายกพม่าสร้างขึ้นในวัดดอนนั้นยังเป็นของทายกผู้สร้าง หรือเป็นของสงฆ์ กล่าวคือเป็นสมบัติของพระศาสนา

๒๐. วินิจฉัยตามธรรมเนียมที่เป็นไปอยู่ ทายกผู้สร้างเสนาสนะสร้างเอาบุญ กล่าวคือเพื่ออุดหนุนพระศาสนา ไม่ได้เคยเอาคืน แม้ปรารภบุคคลผู้เดียวหรือบางพวกสร้างขึ้น เมื่อบุคคลผู้นั้นหรือพวกนั้นไม่อยู่แล้ว ผู้สร้างก็ดี ผู้อยู่ก็ดี ไม่เคยได้ถือเอากรรมสิทธิ์ เช่นรื้อถอนเอาไปเป็นประโยชน์ของตน ที่รื้อเอาไปก็เพื่อปลูกในวัดอื่น ยังเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาเหมือนกัน พวกทายกพม่าสร้างเสนาสนะขึ้นที่วัดดอนนั้น ก็เป็นตามธรรมเนียมนี้ เป็นแต่ปรารภพระพม่า ต้องถือว่าสร้างถวายไว้ ในพระพุทธศาสนาจัดว่าเป็นของสงฆ์ ผู้สร้างไม่ได้เป็นเจ้าของอีกต่อไป แต่คำนี้ไม่ได้หมายถึงเสนาสนะที่ปลูกในที่ดินของบุคคล เพื่อภิกษุได้อาศัยชั่วคราว เช่นกุฏิที่พวกพม่าปลูกขึ้นในที่ดินของบริษัทบังกลีพม่าพณิชการ เพื่อเป็นที่อยู่ของพระพม่า

๒๑. เงื่อนอันจะพึงวินิจฉัยในลำดับ คือ พวกทายกพม่าผู้สร้างเสนาสนะนั้น มีกรรมสิทธิ์ในเสนาสนะนั้นได้เพียงไร

๒๒. กล่าวโดยหลักฐานแล้ว ไม่มีกรรมสิทธิ์เลย ตัวอย่างครั้งพุทธกาล ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีแตกกันพระศาสดาตรัสห้ามไม่ฟัง ภายหลังเห็นโทษในการแตกกัน กลับดีกันได้พากันมาเพื่อจะเฝ้าพระศาสดาผู้เสด็จอยู่ ณ พระเชตวัน กรุงสาวัตถี อนาถบิณฑิกคฤหบดี ผู้สร้างพระเชตวัน ทูลขอห้ามไม่ให้พวกเธอเข้าพระเชตวัน พระศาสดาไม่ทรงพระอนุมัติ คฤหบดีก็ไม่ได้ถือว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่นั้น และฝืนทำ แต่ธรรมเนียมที่เป็นไป ฝ่ายวัดย่อมรู้จักรักษาศรัทธาของทายก และผ่อนผันให้สำเร็จความประสงค์ แต่จะถือเอาหลักแห่งวินิจฉัยไม่ได้

๒๓. เงื่อนที่จะพึงวินิจฉัยต่อไป คือ เสนาสนะนั้น พวกทายกพม่า เฉพาะพระพม่าสร้างขึ้นจะเป็นของเฉพาะนิกาย หรือเป็นของสาธารณะ

๒๔. มีธรรมเนียมมาในพระบาลี ทายกผู้สร้างอารามและเสนาสนะตั้งอยู่ในความแนะนำของพระศาสดา อุทิศไว้เพื่อจาตุทิศสงฆ์ คือพวกภิกษุผู้มาแต่สี่ทิศ ข้อนี้แปลว่า อารามและเสนาสนะที่สร้างขึ้นในพระพุทธศาสนา เป็นสาธารณะทั่วไปแก่นิกายทั้งหลาย

๒๕. อารามและเสนาสนะในกรุงสยาม เป็นไปตามธรรมเนียมในบาลี เป็นสาธารณะแก่นิกายทั้งหลาย มีตัวอย่างเช่น วัดมหานิกายภายหลังเป็นวัดธรรมยุต วัดธรรมยุตกลับเป็นวัดมหานิกาย

๒๖. แต่มีวัดและสำนักที่ยกเว้น ตัวอย่าง คือ วัดราชประดิษฐ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเฉพาะธรรมยุตินิกาย แต่ที่ดินเป็นของทรงบริจาคใหม่ ไม่ใช่วัดเดิม ตั้งแต่สร้างพระธรรมยุตยังได้อยู่สืบกันมา ยังไม่มีปัญหาจะพึงวินิจฉัย สำนักสงฆ์ที่สร้างขึ้นในที่ดินของบุคคล ดังกล่าวไว้ในข้อ ๒๐ ก็นับเข้าในข้อนี้

๒๗. ที่ดินแห่งวัดดอน เป็นสมบัติสาธารณะของพระศาสนาเสนาสนะที่พวกพม่าปรารภพระพม่าสร้างขึ้นในที่ดินนั้น ก็สมควรเป็นสมบัติสาธารณะของพระศาสนาเหมือนกัน ไม่เป็นของเฉพาะนิกาย คำของอุบาสิกาพัน (หมาย ๑๐ – ข.) ก็เบิกความว่ากุฏิที่อำแดงชลูดหรือขำมารดาของแกสร้าง (หมาย ในแผนที่) นั้น ปรารภพระพม่า แต่อุทิศเป็นของสาธารณะ

๒๘. เงื่อนอันจะพึงวินิจฉัยต่อไปว่าเมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าคณะแขวงก็ดี เจ้าอาวาสวัดก็ดี มีสิทธิในที่จะปกครองและจัดเสนาสนะนั้นได้หรือไม่ได้

๒๙. มีธรรมเนียมในพระบาลี ให้สงฆ์สมมติภิกษุรูปหนึ่งหรือหลายรูป (ตามวัดเล็กหรือใหญ่) เป็นเสนาสนะคาหาปกะ คือผู้จัดเสนาสนะให้ภิกษุอยู่ มีอำนาจจะจัดให้อยู่ในเสนาสนะแห่งใดแห่งหนึ่งได้ตามเห็นสมควร แปลว่า การจัดเสนาสนะเป็นธุระของภิกษุในวัดผู้ทำในนามของพระสงฆ์

๓๐. เจ้าอาวาสก็ดี เจ้าคณะแขวงก็ดี ผู้ปกครองวัดดอนได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะผู้ใหญ่เหนือตนขึ้นไปโดยลำดับ นับว่ามีสิทธิ์ทางคณะสงฆ์และทางราชการ ในที่จะปกครองและจัดเสนาสนะเหล่านั้นตามเห็นสมควรอย่างไร

๓๑. เงื่อนในลำดับว่า พระพม่าผู้อยู่ในวัดนั้น เป็นอาคันตุกะหรือเป็นเจ้าถิ่น เจ้าอาวาสก็ดีเจ้าคณะแขวงก็ดี มีสิทธิในที่จะปกครองหรือไม่

๓๒. เพราะไม่ยอมเข้าอุโบสถสังฆกรรม กับพระพวกเจ้าของถิ่นต้องนับว่าเป็นอาคันตุกะ ยังอยู่ในที่นั้นเพียงใด เจ้าอาวาสก็ดี เจ้าคณะแขวงก็ดี มีสิทธิในที่จะปกครองเพียงนั้น โดยฐานเป็นสหธรรมมิกด้วยกัน

๓๓. เงื่อนต่อไปว่า จะอ้างการ เคยอยู่ตามลำพังมาเป็นเครื่องแก้ตัวได้หรือไม่

๓๔.แต่ก่อนการปกครองของวัดก็ดี ของคณะสงฆ์ก็ดี ยังหละหลวมเช่นในวัดดอน พระพม่าอาศัยอยู่ แต่ไม่ได้เข้าร่วมอุโบสถสังฆกรรม ทั้งต่างภาษากัน เจ้าอาวาสไม่ได้ดูแลไปถึง ต่างคนต่างอยู่ พระพม่า จึงได้อยู่มาตามลำพัง บัดนี้คณะสงฆ์ จัดการปกครองถ้วนถี่เข้า การปกครองของวัดก็ต้องถ้วนถี่ตาม ภิกษุผู้อยู่ในเขตก็จะต้องอยู่ในปกครอง เช่นครั้งพุทธกาล พระศาสดาทรงบัญญัติสิกขาบทอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นภิกษุทั้งปวงก็ต้องอยู่ในใต้สิกขาบทนั้น จะอ้างเอาการเคยอยู่ตามลำพังมาเป็นเครื่องแก้ตัวไม่ได้

๓๕. ถ้าจะตัดสินใจตามคำร้องของมองเมียดสา พระพม่าไม่ยอมอยู่ในปกครอง ก็สมควรจะให้ออกเสียจากวัดดอน และเสนาสนะถ้าผู้สร้างจะยังร้องหวงกรรมสิทธิ์ไว้ ก็สมควรจะยอมให้รื้อเอาไปเสียจะได้ตัดพิพาท แต่ความปราถนาของมองเมียดสาก็เพียงขอให้พระพม่าได้อยู่ต่อไปในที่นั้น เหมือนพระนิกายอื่นเท่านี้ก็จะพอ แต่กลับร้องตรงกันข้ามไปเสีย

๓๖. แม้มองเมียดสาไม่ได้ร้องเช่นนั้น แต่คำร้องของเขาก็ยังเป็นเหตุให้ได้ไต่สวนและรู้ความเป็นไปของพระพม่า โดยประการดังต่อไปนี้ ......

ก. เป็นผู้ที่จะเข้าอุโบสถและสังฆกรรมกับพวกพระทวายไม่สะดวกจริง

ข. พวกพระพม่าไม่มีวัดหรือสำนักอยู่แผนกหนึ่ง เหมือนพระนิกายอื่น

ค. พระพม่าที่วัดดอน ไม่ใช่ผู้อยู่ชั่วคราวเร็วๆ แล้วก็ไปเป็นผู้อยู่นานๆ และมีพระมาอยู่สืบกันเสมอไปจะให้ย้ายวัดอย่างอาคันตุกะย่อมจะลำบาก

๓๗. พระพม่าก็เป็นสหธรรมิก เข้ามาอยู่ในเขตปกครองของคณะสงฆ์ฝ่ายเรา ควรได้รับความเอาใจใส่ของเรา สมควรจะจัดให้มีสำนักอยู่ วัดอื่นในแขวงนั้นที่พอจะจัดให้ไม่มี วัดดอนเป็นที่เคยอยู่มาแล้ว ควรให้ตั้งสำนักที่นั้น

๓๘. ด้วยเหตุนี้เราสั่งให้แบ่งวัดดอนบ้านทวาย อำเภอบางรัก กรุงเทพฯ เป็นสองสำนักเป็นทางเดินที่ตัดจากถนนเจริญกรุงเข้าไปในวัด (หมาย ๔) เป็นเขต ด้านใต้แห่งทางเป็นเขตสำนักพระทวายด้านเหนือแห่งทางนั้น ตั้งแต่ทางไปถนนเจ้าป่าช้าจีน (หมาย ๕) ยืนขึ้นไปจรดทางตัดลงคูใหม่ (หมาย ๖) เป็นเขตสำนักพระพม่า ตั้งแต่ทางตัดลงคูใหม่นั้น ยืนขึ้นไปทางด้านตะวันออก เป็นเขตป่าช้าให้ใช้เป็นสาธารณะ

๓๙.ให้ทั้งสองสำนักนั้น ขึ้นตรงต่อเจ้าคณะแขวง คือ เหมือนเจ้าคณะแขวงเป็นเจ้าอาวาสเอง

๔๐. อนุญาตให้พระพม่า ๒ รูป คือพระธรรมอินทระ หรือมินอ่อง ๑ พระเวสยะ หรือม่องละ ๑ และพระพม่าผู้จะมาต่อไป ได้อยู่ในเสนาสนะ ณ สำนักพระพม่านั้น แต่ต้องไม่ทำผิดทางพระศาสนาที่ให้เกิดรังเกียจของพระและทายกพม่าพวกเดียวกัน และยอมอยู่ในปกครองของคณะสงฆ์ ฟังบัญชาท่านผู้ใหญ่เหนือตน ถ้าทำผิดหรือไม่ฟังคำบัญชา ถ้าจำเป็นแท้ ไล่ได้เฉพาะรูป

๔๑. ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงบางรักจะทำตามสั่งนี้ แต่จงทำเมื่อมองเมียดสายอมถอนคำร้องหวงกรรมสิทธิ์ในเสนาสนะนั้นแล้ว และเมื่อพระพม่ายอมอยู่ในปกครองของคณะสงฆ์ฝ่ายเรา

๔๒. เมื่อสำนักพระพม่าได้ตั้งขึ้นโดยอนุญาตแล้ว ขอให้พวกทายกพม่าเลือกกันในพวกตนเอง ๓ นายเพื่อจะได้รับหน้าที่เป็นกรรมการผู้ดูแลสำนักพระพม่านั้น และจะต้องรับมอบหมายดูแลในนามของคณะสงฆ์อย่างมรรคนายกแห่งวัดอื่น

 

วินิจฉัยไว้ ณ วันที่ ๒๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖

 

(ลงนาม) กรม – วชิรญาณวโรรส

 

 

 

วัดดอนพม่า

 

เมื่อมีพระมหาสมณวินิจฉัยให้พระพม่าอยู่ในวัดดอนต่อไป ด้วยทรงกรุณาว่า พระพม่าไม่มีวัด หรือสำนักอยู่ในกรุงเหมือนพระนิกายอื่น ทั้งพระพม่าก็เป็นสหธรรมิก เข้ามาอยู่ในเขตปกครองของคณะสงฆ์ไทยควรจะได้รับความเอาใจใส่จากคณะสงฆ์ไทย จัดให้มีสำนักอยู่ และที่อื่นในแขวงนี้ซึ่งพอที่จักให้เป็นสำนักพระพม่าก็ไม่มี วัดดอนเป็นที่เคยอยู่มาแล้ว ควรจะให้อยู่ต่อไปตามเดิม แต่มีข้อบังคับว่า ต้องไม่ทำผิดในทางพระศาสนา ให้เป็นที่น่ารังเกียจของพระสงฆ์หรือทายกพม่า ทั้งยังจะต้องยอมอยู่ในความปกครองของคณะสงฆ์ไทย เชื่อฟังคำสั่งของท่านผู้เป็นใหญ่เหนือตน โดยขึ้นตรงต่อเจ้าคณะแขวงซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา

ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นมา จึงเกิดมีคณะพม่าขึ้นที่วัดดอน เรียกชื่อเต็มว่าวัดดอนคณะพม่าอยู่ในบริเวณวัดดอนทิศเหนือฟากตะวันตก พระสงฆ์และทายกพม่าเลือกกันเองเป็นกรรมการดูแลการคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยความเรียนร้อย โดยมีเจ้าคณะแขวงทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสมีอำนาจสิทธิ์ขาดอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเมื่อกล่าวตามนัยนี้แล้ว อำนาจในการปกครองคณะพระพม่าที่ตั้งใหม่ โดยพระมหาสมณวินิจฉัยชั่วคราวนี้ สำหรับเจ้าอาวาสวัดดอนหามีไม่ กล่าวคือพระอธิการจั่น จนฺทสโร เจ้าอาวาสวัดดอน ไม่มีอำนาจปกครองคณะพม่า ถึงแม้ว่าคณะพม่าจะตั้งอยู่ในบริเวณวัดดอนก็ตามที

นับแต่เกิดกรณีแล้ว ท่านอธิการจั่นเจ้าอาวาสวัดดอนผู้เคร่งครัดในหน้าที่ เคารพในคำสั่งของทางการคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ ก็วางตนเฉยอยู่ ไม่เกี่ยวข้องกับคณะพม่าอีกต่อไปเลย ทั้งยังสั่งไว้ว่า ต่อไปภายหน้า ให้เจ้าอาวาสวัดดอนทุกรูปจงรับรู้เรื่องนี้ไว้ อย่าขวนขวายอะไรเลย ให้วางเฉยไปก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งของท่านผู้ใหญ่ หากท่านสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นประการใดแล้ว จึงค่อยปฏิบัติตาม

ท่านอธิการจั่น เป็นเจ้าอาวาสครองวัดดอนมานานช้า ปรากฏว่านอกจากจะเคร่งครัดในหน้าที่แล้ว ยังเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยยิ่งนักฝักใฝ่ในทางกสิณภาวนา ขลังแลศักดิ์สิทธิ์ในวิทยามนต์คาถา เป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรทั้งหลาย ทั้งที่วัดดอนลูกบ้านทวาย ทั้งชาวไทยที่วัดใกล้เคียง มีผู้เคารพนับถือมากในสมัยของท่าน พระอธิการจั่นนี่แล นับว่าเป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรกที่มีชื่อเสียงที่สุดของวัดดอนจนมีชื่อเรียกให้รู้กันทั่วไปว่าพระอุปัชฌาย์จั่น อนึ่ง โดยเหตุที่ว่าท่านเป็นสมภารครองวัดดอนมานาน จนถึงกาลแก่เฒ่าเข้าขั้นรัตตัญญูผู้ใหญ่ คนทั้งหลายรุ่นหลังขั้นลูกหลาน จึงมักเรียกท่านว่าท่านใหญ่ และบางคนก็เรียกว่าท่านปู่จั่น

ท่านปู่จั่นหรือท่านใหญ่ สมภารเจ้าวัดดอนผู้มีเกียรติคุณฟุ้งขจรไปไกล ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอำนาจของชราและพญามัจจุราช เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๒

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วัดดอนสมัยพระครูกัลยาณวิสุทธิ์

 

ครั้นท่านปู่จั่นหรือท่านใหญ่ ถึงมรณภาพล่วงลับไป ด้วยความอาลัยยิ่งของปวงชนชาววัดดอนบ้านทวายทั้งหลายแล้ว ทางการคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดดอนสืบมา ท่านพระครูกัลยาณวิสุทธิ์นี้ก็มีชาติกำเนิดสืบเชื้อสายมาแต่ชาวทวาย และมีปสูติกาลที่บ้านทวายเหมือนกัน ประวัติโดยสังเขปของท่านมีดังต่อไปนี้....

พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ มีนามเดิมว่า กึ๋น กำเนิดเมื่อวันพุธที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๓๔ ตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ ที่ตำบลบ้านทวาย อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร

ตอนปฐมวัย ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนประถมพิเศษยานนาวา แล้วเข้ารับราชการเป็นทหารมียศเป็นสิบตรี ออกจากทหารเข้ารับราชการกรมศุลการักษ์ พออายุ ๒๘ ปี ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดดอน ตำบลบ้านทวาย อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร โดยมี

พระอุปัชฌาย์จั่น เจ้าอาวาสวัดดอนเป็นพระอุปัชฌาย์

พระอาจารย์สุ่น วัดดอนเป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระครูสังฆวิธาน วัดสวนพลูเป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า วิสุทฺโธ เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๒

ครั้นอุปสมบทแล้ว ก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย เท่าที่สามารถจักศึกษาได้ในสมัยนั้นจนมีความรู้พอสมควร ต่อมาเมื่อท่านใหญ่หรือท่านปู่จั่น ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์และเจ้าอาวาส ถึงแก่มรณภาพก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนสืบแทนต่อไป ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นสมภารเจ้าวัดดอนอยู่นี้ ก็พยายามปฏิบัติศาสนกิจในหน้าที่ด้วยดี โดยมีหน้าที่และสมณะศักดิ์ที่ได้รับ ตามลำดับดังต่อไปนี้

พระพุทธศักราช ๒๔๘๓ ได้รับความกรุณาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) ให้เปลี่ยนนามใหม่จากพระครูกึ๋น วิสุทฺโธ เป็นพระครูกัลยาณวิสุทธิ์ ปรากฏตามอักษรจารึกในโล่ห์เงิน ซึ่งทรงประทานให้มีข้อความดังนี้

 

วัดสุทัศนเทพวราราม

วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๔๘๓

ขอเปลี่ยนนามให้พระครูกึ๋น วิสุทฺโธ

เจ้าอาวาสวัดดอน ใหชื่อว่ากัลยาณวิสุทโธ

ขอให้จงมีอายุ วรรณะ สุขะ พละเทอญ

..............................

 

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร มีราชทินนามว่า พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ ซึ่งต้องนับว่าเป็นพระครูสัญญาบัตรรูปแรกของวัดดอน ด้วยตั้งแต่ท่านมังจันจ่า พระยาทวายสร้างวัดมายังไม่เคยปรากฏมีเจ้าอาวาสเป็นพระครูสัญญาบัตรมาก่อนเลย

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลวัดพระยาไกรมีวัดในเขตปกครอง ๕ วัด คือ ๑. วัดลุ่มเจริญศรัทธา ๒. วัดสุทธิวราราม ๓. วัดวรจรรยาวาส ๔. วัดราชสิงขร ๕. วัดลาดบัวขาว และในปีนี้เอง ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ทำหน้าที่ให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรทั้งหลาย ในเขตปกครองของตน ซึ่งนับว่าเป็นพระอุปัชฌาย์รูปที่ ๒ ของวัดดอน

ปีพทธศักราช ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูพิเศษ จ.ป.ร.ในราชทินนามเดิม

 

หลวงพ่อวัดดอน

 

พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ มีปรกติเป็นผู้พูดน้อยแต่หนักแน่น เจริญเมตตาจิตอยู่เป็นประจำ จึงทำให้ประชาชนเคารพนับถือท่านมากทั้งใกล้และไกล ตั้งอยู่ในฐานะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของศิษย์ทุกคน จนพากันเรียกท่านว่าหลวงพ่อ อย่างสนิทปากสนิทใจทุกคำไป แม้ท่านจะได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูแล้วก็ตาม แต่คนทั้งหลายก็ยังเรียกท่านว่าหลวงพ่อวัดดอนอยู่นั้นเอง

ด้วยความเคารพนับถือในส่วนเฉพาะบุคคลแล้วสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือว่าโดยความจริง ตัวท่านเองเป็นผู้มีอัธยาศัยชอบใจในการสมาธิภาวนา และขลังอยู่ในคาถาอาคม โดยเล่าเรียนสืบต่อมาจากพระอุปัชฌาย์จั่นท่านใหญ่ และพ่อปู่เปี่ยม ซึ่งเป็นอาจารย์วิชาอาคมขลังเรืองนาม เป็นที่เคารพนับถือของคนในสมัยนั้น เลยทำให้ท่านฝักใฝ่อยู่แต่ในทางนี้ จนมีชื่อว่าเป็นเกจิอาจารย์องค์หนึ่ง ในบรรดาเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมขลังทั้งหลาย

สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น หากมีการพิธีพุทธาภิเษกปลุกเสกพระเครื่องรางของขลังขึ้น ณ ที่แห่งใด ไม่ว่าจะเป็นในกรุงหรือหัวเมือง หลวงพ่อวัดดอนมักได้รับอาราชธนาให้ไปนั่งปรกปลุกเสกด้วยรูปหนึ่งเสมอมา แม้ที่วัดดอนเองในยุคของท่าน ก็มีงานพิธีพุทธาภิเษกนับได้หลายครั้งหลายหน เพราะท่านมีอุปนิสัยชอบสร้างพระเครื่องลางของขลัง และสร้างอย่างจริงจังหลายแบบหลายพิมพ์

บรรดาพระที่ท่านสร้างทั้งหมดนั้น พระที่มีอภินิหารศักดิ์สิทธิ์เกรียงไกร ซึ่งทำชื่อเสียงให้แก่ท่านผู้สร้างมากที่สุดก็คือพระกริ่งฟ้าผ่าและพระพิมพ์ผง ๘๔,๐๐๐ องค์ โดยมีประวัติการสร้างที่ควรแก่การบันทึกไว้ในที่นี้ดังต่อไปนี้

 

พระกริ่งฟ้าผ่า

 

ประวัติการสร้างพระกริ่งฟ้าผ่านี้ เริ่มขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๘๐ สมัยที่ยังเป็นพระครูกึ๋น วิสุทฺโธ ผู้มีวัยสี่สิบเศษ ปรารภไทยเข้าทำสงครามอินโดจีน ในฐานะที่เคยเป็นทหารมาก่อน ท่านจึงเกิดมีความปรารถนาอย่างแรงร้อนที่จักช่วยประเทศชาติ ตามสมณวิสัยที่จะพึงกระทำได้ จึงคิดสร้างพระกริ่งนิรันตรายเพื่อแจกจ่ายแก่บรรดาศิษย์ลูกหลานบ้านทวายที่ลาไปทัพกับทหารไทยทั่วไป ในการสร้างพระกริ่งครั้งนี้ได้จัดเป็นพิธีใหญ่โดยตัวท่านเองไปทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทวมหาเถระ) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาอย่างสูงสุด ให้มาทรงเป็นองค์ประธานจุดเทียนชัย และกำกับการทั่วไปจนกว่าจะเสร็จพิธี ในขณะที่กำลังทำพิธีบวงสรวงเทวดาอัญเชิญปวงเทพเจ้า ให้มาเข้าร่วมพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นั้น พลันอสุนีบาตจากฟากฟ้าก็ฟาดตกลงมาในท่ามกลางพิธี ให้เป็นที่อัศจรรย์หวั่นไหวโกลาหล ทั้งๆ ที่ปราศจากเค้าเมฆและฝน ผู้คนทั้งหลายตื่นตลึงวุ่นวายแปลกประหลาดใจหนักหนา จึงพากันเรียกพระกริ่งที่สร้างขึ้นครั้งนี้ว่าพระกริ่งฟ้าผ่า

ครั้นเสร็จพิธีการพุทธาภิเษกอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว หลวงพ่อวัดดอนผู้สร้างพระกริ่งฟ้าผ่า ก็เริ่มดำเนินการตามที่ตั้งเจตนาไว้ คือแจกจ่ายให้แก่บรรดาทหารไทย ที่เดินทางไปรบในราชการสงครามอินโดจีน และประชาชนผู้สนใจทั่วไป โดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใดทั้งสิ้น

เกิดเลื่องลือกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พรรณนาถึงกฤษฎาภินิหารของพระกริ่งฟ้าผ่าว่า มีอานุภาพในทางคงกระพันชาตรี สามารถที่จะป้องกันภยันตรายได้ทั่วทุกทิศ อาทิทหารไทยคนหนึ่ง ซึ่งบัดนี้เป็นคนแก่แล้วได้กล่าวด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า การที่เขามีชีวิตตลอดมา โดยปลอดภัยจากห่ากระสุนปืนของข้าศึก ในสมรภูมิอินโดจีนครั้งกระนั้น ก็ด้วยอำนาจมหัศจรรย์ของพระกริ่งฟ้าผ่า ซึ่งเขามีติดตัวอยู่องค์เดียงแท้ ๆ

แม้ในกาลปัจจุบันนี้ ก็ยังมีผู้พรรณนาถึงอานุภาพของพระกริ่งฟ้าผ่าไปต่างๆ นานา อาทิ บุรุษวัยกลางคนผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระครูกัลยาณวิสุทธิ์ เกิดมีอาการขวนขวายแทบจะเป็นบ้าตาย เพื่อให้ได้พระกริ่งฟ้าผ่า สอบถามได้ความว่า เดิมทีเขารับพระกริ่งไปจากมือหลวงพ่อผู้สร้าง แล้วห้อยคอติดตัวไว้เป็นประจำ พลบค่ำวันหนึ่ง เคราะห์ร้ายถูกชายฉกรรจ์สี่คน มันพากันกลุ้มรุมทำร้ายด้วยมีดและไม้ จนเสียหลักล้มฟุบอยู่ โดยไม่ได้รับอันตรายมีบาดแผลในร่างกายแต่ประการใด

เจ้าพวกวายร้ายแปลกใจตรวจกันในร่างกายพบพระกริ่งจึงยึดเอาไปเสีย ตั้งแต่บัดนั้นมา เขาก็เกิดความว้าวุ่นใจ หากไม่มีพระกริ่งวัดดอนประจำกายชีวิตของเขารู้สึกว่าจะไม่ปลอดภัยไปตลอดกาล บุรุษอีกผู้หนึ่งรำพันว่า ถ้าไม่มีพระกริ่งฟ้าผ่า ป่านนี้ตัวเขาคงเป็นผีลงป่าช้าไปแล้ว ด้วยถูกอันธพาลรุมแทงที่ร่างกายหลายแห่ง แต่ละแห่งล้วนแต่หมายเอาตายทั้งสิ้นเช่นที่หน้าอกเบื้องซ้าย ที่หน้าท้อง และแทงซ้ำแล้วซ้ำเล่าแห่งละสองสามที ปรากฏว่ามีผิดปรกติแต่เพียงเป็นจุดดำช้ำเล็กน้อย บริเวณที่ถูกแทงด้วยของแหลมคมเท่านั้น

จึงเป็นอันว่าพระกริ่งฟ้าผ่านี้ เป็นอนุสรณ์ของหลวงพ่อวัดดอนชิ้นหนึ่ง ซึ่งทำให้ท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงเกรียงไกร วงการผู้นิยมมีของดีติดต่อทั้งหลาย ล้วนแต่พากันปรารถนายิ่งนัก

 

พระพิมพ์ผง ๘๔,๐๐๐ องค์

 

การสร้างพระพิมพ์ผงแปดหมื่นสี่พันองค์นั้น มีประวัติความเป็นมาดังต่อไปนี้ คือ วันหนึ่งในปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ สมภารเจ้าวัดดอนพระครูกัลยาณวิสุทธิ์ ได้จินตนาการถึงอนาคตว่า อีกประมาณสิบปีปลายภาคหน้าก็จักถึงยุคกึ่งพุทธกาลยี่สิบห้าพุทธศตวรรษควรจะจัดสร้างอนุสรณ์สักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอนุสรณ์พิเศษสำหรับตัวท่านในมหามงคลกาล ก็แต่ว่าสิ่งที่จะสรรค์สร้างนั้นควรจะเป็นอะไรดี

โดยเหตุที่ท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยชอบสร้างพระเครื่องลางของคลัง ดังนั้น จึงตั้งความปราถนาที่จะสร้างพระพิมพ์ผงจำนวนแปดหมื่อนสี่พันองค์ให้เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ อันประกอบด้วยวิทยาคม เป็นของศักดิ์สิทธิ์มีกฤษฎาภินิหารดังสนั่นเหมือนกับพระกริ่งฟ้าผ่า ปรารถนาดังนี้แล้ว จึงเที่ยวเสาะแสวงหาผงวิเศษจากที่ต่างๆ พร้อมทั้งสรรพคุณวัตถุว่านยา กว่าจะครบตามตำราก็ใช้เวลานานอยู่หลายปี เมื่อได้สรรพวัตถุตามที่ต้องการแล้ว ก็ไม่รอช้าเร่งให้บรรดาศิษย์ทั้งภิกษุสามเณรแลเด็กวัด ช่วยกันโขลกตำทำกันและทำพระพิมพ์ผงกันวุ่นวายภายในโรงอุโบสถ เพราะวันกึ่งพุทธกาลคืบคลานเข้ามาใกล้เต็มที ก็พอดีได้ครบแปดหมื่นสี่พันองค์ เป็นองค์พระพิมพ์ผงหลายแบบหลายอย่าง สมความตั้งความตั้งใจของท่าน แล้วจึงจัดงานพิธีพุทธาภิเษกครั้งใหญ่ อาราธนาเกจิอาจารย์ทั้งหลายทั้งปวงทั่วราชอาณาจักรมานั่งปรกปลุกเสกเป็นเวลานานถึง ๓ วัน เมื่อครั้งกึ่งพุทธกาลปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ (ปัจจุบันนี้ยังมีเหลืออยู่)

พระพิมพ์ผงแปดหมื่นสี่พันองค์รุ่นนี้ นับเป็นอนุสรณ์ของหลวงพ่อวัดดอนอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีอภินิหารเป็นที่เลื่องลือกันไปต่างๆ นานา เช่น พระกริ่งฟ้าผ่า ตามที่พรรณนาไว้แล้วนั้น

 

วัดกัลยาณบรรพต

 

อนุสรณ์ชิ้นสุดท้าย ที่พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ สร้างไว้ในพระพุทธศาสนาก็คือวัดกัลยาณบรรพต อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มูลกรณีที่จะสร้างวัดนี้ขึ้น ก็โดยความเป็นเกจิอาจารย์ของท่านนั้นเอง กล่าวคือ หลังจากที่ได้สร้างพระกริ่งฟ้าผ่าและพระพิมพ์ผงแปดหมื่นสี่พันองค์ จนมีชื่อเสียงเกรียงไกรเห็นประจักษ์แจ้งในอภินิหารด้วยตัวของท่านเองแล้ว ก็ดูเหมือนว่าจะทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นในการเหล่านี้มากยิ่งขึ้น เกิดศรัทธาในเรื่องคาถาอาคมวิทยามนต์และศาสตร์ลึกลับทั้งหลาย จนถูกอัธยาศัยกับคณะพรหมศาสตร์นั่งทางในหลายคน

คราวหนึ่ง พอมีเวลาว่างท่านจึงเดินทางไปกับคณะพรหมศาสตร์ทั้งหลาย ซึ่งชอบพูดถูกอัธยาศัยกัน เพื่อท่องเที่ยวนมัสการปูชนียสถานต่าง ๆ ในหัวเมือง หลังจากเที่ยวเฟื่องเป็นขบวนพรหมทัศนาจร ตอนขากลับได้แวะนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี แล้วถือโอกาสเที่ยวชมธรรมชาติใกล้บริเวณพระพุทธบาทอันเป็นป่าแลเขา ผ่านเจ้าพ่อเขาตกลงมาทางใต้ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่าเขาเลี้ยว ได้พบสถานที่แห่งหนึ่งบนเขานั้นมีสัณฐานผิดกว่าที่อื่นแลดูแปลกประหลาด

คณะพรหมศาสตร์ จึงได้พากันพิจารณาดู แล้วได้เกิดมีมติร่วมกันว่า สถานที่นั้นแล ที่แท้คือรอยพระพุทธบาทอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีใครเคยพบเห็นมาก่อนเลย แล้วก็พรรณนาความวิเศษมหัศจรรย์กันไปต่าง ๆ นานา พระครูกัลยาณ์เกิดความเลื่อมใส จึงขวนขวายสร้างวัดขึ้นที่นั่นวัดหนึ่ง ให้ชื่อว่าวัดกัลยาณบรรพต

ขณะนี้ยังปรากฏมีอยู่ เพื่อความรอบรู้ของอนุชนรุ่นหลังในเรื่องนี้ จักขอนำเอาบทความของ นายไศล ปาละนันทน์ ซึ่งพรรณนาถึงวัดกัลยาณบรรพตและหลวงพ่อวัดดอนในสมัยนั้น มารวบรวมไว้ให้เป็นหลักฐานดังต่อไปนี้

สิบปีกว่ามานี้เอง ตามเส้นทางรถไฟสายท่าเรือ-พระพุทธบาท ซึ่งได้กลายเป็นทางหลวงให้ยวดยานอื่นเดินแทน ณ บัดนี้นั้น ถ้าเราเดินผ่านเส้นทางสายนี้ เรารู้สึกเองว่า เป็นการไปเที่ยวป่าดี ๆ นั่นเอง เพราะทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติเช่นนั้น นาน ๆ จึงจะผ่านกระต๊อบมุงแฝกสักหลังหนึ่ง

ความเป็นอยู่ของผู้คนก็อยู่ในทำนองเดียวกัน แต่ในปีนี้ ข้าพเจ้าได้ผ่านไปอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าที่ตำบลพุกร่างได้เกิดเป็นชุมชนขึ้นแล้ว แม้จะไม่ใหญ่โตอะไร แต่ก็ดีขึ้นกว่าเดิมถึงผิดหูผิดตา มองขึ้นไปทางตัวภูเขา จะได้เห็นบันไดนูน ขึ้นไปตามธรรมชาติของพื้นที่จนถึงยอดเขา มีวิหารปากถ้ำหลังย่อม ๆ ตั้งอยู่อย่างน่าเอ็นดู มณฑปหลังหนึ่งที่ยอดเขา มีสีสรรแสดงว่าเพิ่งจะสร้างเสร็จใหม่ ๆ

พระพุทธรูปนั้นปางต่าง ๆ รวมทั้งปางประทานพรแบบฮินดู รูปปั้นฤาษี เรียงรายไปในสภาพของธรรมชาติที่จงใจรักษาไว้ มีกุฏิอันถูกสุขลักษณะควรแก่การอยู่อาศัยสองสามหลัง ที่ยอดเขาเดียวกันนั้น น้ำใช้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ได้มองเห็นแท๊งขนาดจุสี่ร้อยแกลลอน บรรจุน้ำฝนไว้เต็มปรี่ ตั้งอยู่ทั่วไปในบริเวณ เป็นสายตาลงมาที่เชิงเขา

ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธรูปอุ้มบาตร ขนาดสูงประมาณสามเมตร เหลืองอร่ามใกล้เชิงบันใด มองเห็นศาลาดิน ศาลาการเปรียญ หมู่กุฏิเป็นหลังเรียงกันแถวหนึ่ง เป็นเรือนชั้นเดียวเตี้ย ๆ ต่อเป็นแนวเดียวกันอีกสองหลังทราบว่ามีคนจีนมากินเจ บำเพ็ญบุญกันในฤดูนมัสการ มีบ่อน้ำ ซึ่งนอกจากพระจะได้ใช้แล้ว ชาวบ้านก็ได้อาศัยใช้ด้วย

ในบริเวณที่ว่างข้างหน้าใกล้ถนน เห็นเด็กนักเรียนวิ่งเล่นกันเกรียว ประมาณดูร่วมสองร้อยคน เยาวชนทั้งปวงนั้นได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ก็โดยทางราชการได้รับการให้ยืมศาลาการเปรียญเป็นโรงเรียนนั่นเอง ความผิดหูผิดตาเป็นเช่นนั้น ความสนใจอยากรู้ก็ตามมา แล้วในที่สุดจึงทราบว่า

พระภิกษุชรารูปหนึ่ง ซึ่งฝักใฝ่บำเพ็ญศาสนกิจเป็นประจำ ได้จาริกไปจนพบสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นอย่างหนึ่งบนยอดเขา ภายหลังที่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ความเลื่อมใสศรัทธาได้บังเกิดขึ้นแก่ท่านว่านั่นคือ “รอยพระพุทธบาท” ด้วยศรัทธามั่นอันนี้ ท่านก็มิได้รั้งรอให้เวลาผ่านไปเปล่า กระวีกระวาทขออนุญาตต่อทางการ บูรณะบริเวณสถานที่นั้นเป็นวัดขึ้นทันที แต่คำขออนุญาตของท่านถูกยับยั้ง โดยระเบียบที่ว่าพระภิกษุสงฆ์จะขอสร้างวัดไม่ได้

ท่านไม่ยอมให้ความปรารถนาในน้ำใจของท่านถูกยับยั้งไปด้วย จึงได้เชิญ พล.ต. ก้าน จำนงภูมิเวทมาพบ และขอให้สมอ้างเป็นผู้ขออนุญาตสร้างวัดแทน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี แล้วคำขอก็ปรากฏว่าเงียบไปโดยไม่รู้เรื่องตลอดระยะเวลา ๖ - ๗ ปี แต่ด้วยศรัทธาและเจตนาอันแรงกล้าเท่านั้น ทำให้ท่านเป็นผู้นำและปฏิรูปท้องถิ่นนั้น เป็นวิวัฒนาการทางศาสนา และการศึกษาของเยาวชนขึ้น ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทราบผลของการอนุญาต ท่านก็กล้าทำ

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกสร้างขึ้นนั้น สำเร็จได้ด้วยสัมพันธภาพ ในการเป็นผู้นำ ผู้เสียสละ ผู้ใคร่เห็นความเจริญของท่านโดยแท้ แม้แต่ที่ดินที่ก่อสร้างทั้งปวงนั้นตั้งอยู่ ประมาณร่วมสามสิบไร่ท่านก็เป็นผู้นำ โดยรวบรวมจตุปัจจัยจากชาวพุทธทั้งหลายซื้อกรรมสิทธิ์มา ซึ่งขณะนี้บริเวณทั้งหมดนั้น ถูกขนานนามว่าวัดกัลยาณบรรพต และสิ้นเงินไปแล้วสองล้านบาทเศษ (สมัยพุทธศักราช ๒๕๐๔) พระภิกษุที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงนี้ก็คือ

หลวงพ่อพระครูกัลยาณวิสุทธิ์

เจ้าอาวาสวัดดอน

เจ้าคณะตำบลวัดพระยาไกร

อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร

 

มีปัญหาว่าหลวงพ่อเอาเงินที่ไหนมาสร้าง ? ก็เงินของผู้รักการบริจาคซึ่งศรัทธาในตัวท่าน ร่วมกับทรัพย์สินอันเป็นของท่านคราวละมากบ้างน้อยบางนั่นแหละ ไม่ว่าจะมีมากมีน้อยอย่างไร หลวงพ่อทำไม่หยุด เมื่อหมดแล้ว ท่านก็พักเหนื่อยเสียก่อน แล้วก็ลงมือทำต่อไปอีกเป็นดังนี้ตลอดมา ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ มีพระภิกษุจำพรรษาตลอดมาไม่ขาดสาย

เมื่อใกล้ชิดและศึกษาองค์หลวงพ่อแล้วได้ทราบชัด และแน่แก่ใจเป็นที่สุดว่า หลวงพ่อเป็นชายชาตรีเต็มตัว รอบรู้ธุรกิจต่างๆ หลายแขนงเป็นผู้มองเห็นการณ์ไกล ไม่ทำทุกอย่างแบบสุกเอาเผากินและไม่ชอบทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ตน แต่ชอบให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ในฐานะเป็นผู้นำเพื่อการสร้างสรรค์แล้วก็บันทึกว่า

หลวงพ่อเป็นผู้หนึ่งในชั้นแนวหน้า หลวงพ่อเป็นผู้พูดน้อยแต่ทำมาก ไม่รักการโต้ตอบกับคนโง่ ไม่รับนับถือความชั่วในอดีตของผู้ใดมาพิจารณาในปัจจุบัน หลวงพ่อเชื่อมีทุกโอกาสว่า ถ้ามนุษย์ใดรักความที่เป็นแก่น้ำใจแล้ว มนุษย์นั้นเป็นคนดีได้ หลวงพ่อถืออดีตเป็นครู ถือปัจจุบันเป็นการต่อสู้ และถืออนาคตคือความหวัง นอกจากนั้นท่านยังถือภาษิตที่ว่า เสือมันมีก็เพราะป่ามันปก ป่ามันรกสิเสือจึงยัง แผ่นดินจะเย็นก็เพราะหญ้ามันบัง ที่หญ้ามันยังก็เพราะดินมันดี

ทั้งหมดนี้ เป็นคำของนายไศล ปาละนันทน์ ซึ่งพรรณนาถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกันวัดกัลยาณบรรพต และหลวงพ่อวัดดอนในสมัยนั้น เป็นเรื่องที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่อนุชนคนรุ่นหลัง ผู้มีความสนใจใคร่จะทราบโดยไม่ต้องสงสัย

นอกจากบทความของนายไศลแล้ว ยังมีบทความของ พระภิกษุรัตน์ จนฺทสาโร ที่ได้เล่าพรรณาถึงประวัติความเป็นมาของพระพุทธบาทแห่งนี้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่เมื่อครั้งที่คณะแสวงบุญหรือคณะพรหมศาสตร์ ได้เดินทางไปทัศนาจรด้วยกัน ดังมีเรื่องเล่าต่อไปนี้

 

สู่พระบาทเขาเลี้ยว

 

ท่านที่รัก หากท่านไม่เหน็ดเหนื่อย ปวดเมื่อยอ่อนระโหยโรยแรงในการเดินทาง และเบื่อหน่ายต่อการอ่านศึกษาหาความรู้เสียก่อนแล้ว ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นมัคคุเทศน์นำท่านไปสู่ยัง “พุทธบาท” แห่งใหม่ อันควรแก่การสนใจและสักการะบูชาอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากบรรดา “พุทธบาท” ทั้งหลาย เช่นพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และพระบาทเขาลูกช้าง จังหวัดเพชรบุรี ที่ท่านได้เคยไปชม หรือได้ยินได้ฟังท่านผู้รู้เล่า

จากกรุงเทพฯ บ่ายหน้าสู่ทิศเหนือ โดยทางรถยนต์สายพหลโยธิน เมื่อถึงกิโลเมตรที่ ๑๓๗ ท่านก็จะถึงพระพุทธบาทสระบุรี จากที่นี้ หากท่านเดินทางต่อไปทางทิศตะวันตกอีก ๓ กิโลเมตร ท่านจะบรรลุถึงปูชนียสถานอันสำคัญควรแก่การเคารพสักการะอย่างสูงสุด ที่เป็นเครื่องเตือนใจบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายให้ระลึกถึงคุณความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกแห่งหนึ่ง นั่นคือ “พระบาทเขาเลี้ยว” ณ วัดกัลยาณบรรพต ตำบลพุกร่าง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ก่อนที่จะได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของพระบาทเขาเลี้ยว ใคร่ขออธิบายให้ทราบเสียก่อนว่า พระบาทเขาเลี้ยวนี้มีเนื้อที่ ๒๔ ไร่ ๒ งาน ซึ่งท่านพระครูกัลยาณวิสุทธิ์ (หลวงพ่อกึ๋น) ได้เป็นผู้ซื้อเพื่อสร้างวัด และเพื่อรักษาไว้ซึ่งปูชนียสถานให้ดำรงอยู่ในพุทธศาสนาสืบต่อไป โดยสิ้นเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท (สองหมื่นห้าพันบาท) มีอาณาเขตบริเวณวัดดังนี้ คือ

๑. ทิศเหนือ มีอาณาเขตจรดเขตเนื้อที่เอกชน

๒. ทิศใต้ มีอาณาเขตเป็นทุ่งกว้าง จรดบริเวณระเบิดหิน ของ บริษัท

เฉลิมนคร ฯ

๓. ทิศตะวันออก มีอาณาเขตเพียงเขาเลี้ยว

๔ .ทิศตะวันตก มีอาณาเขตจรดถนนสายพระบาท – ท่าเรือ

สำหรับเส้นทางการเดินทางสู่พระบาทเขาเลี้ยว วัดกัลยาณบรรพตนี้ มาได้ ๔ ทางด้วยกันคือ

๑.เมื่อท่านได้เดินทางมาถึงพระพุทธบาทใหญ่แล้ว เดินทางต่อไปโดยรถยนต์โดยสารประจำทางพระพุทธบาท – บ้านหมอ ไปทางทิศตะวันตก ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร ถึงพระบาทเขาเลี้ยว

๒.เมื่อท่านเดินทางโดยรถไฟ ท่านอาจจะลงที่สถานีท่าเรือ โดยสารรถยนต์ซึ่งเดินประจำถึงพระบาทเขาเลี้ยว ระยะทาง ๑๕ กิโลเมตร

๓.ท่านอาจจะลงรถไฟที่สถานีบ้านหมอ โดยสารรถยนต์ประจำทาง ถึงประบาทเขาเลี้ยว ระยะทาง ๑๑ กิโลเมตร

๔.ท่านอาจจะลงรถไฟที่สถานีหนองโดนก็ได้ โดยสารรถยนต์ประจำทางถึงพระบาทเขาเลี้ยว ระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร

ในการเดินทางโดยสารรถยนต์ทุก ๆ เส้นทางดั่งกล่าวข้างต้น หากท่านมีความสงสัยหรือข้องใจ โดยไม่อาจะทราบได้ว่า รถยนต์ประจำทางที่ท่านจะโดยสารมานั้น จะถึงพระบาทเขาเลี้ยวหรือไม่ ก็พอจะมีสิ่งที่ให้ทางสังเกตได้ว่าท่านได้เดินทางมาถึงพระบาทเขาเลี้ยวหรือยัง โดยจะสังเกตเห็นได้จากตรงปากทางที่จะเข้าไปพระบาทเขาเลี้ยวนั้น มีศาลาที่พักคนเดินทางปลูกอยู่หนึ่งหลัง และนอกจากนี้ยังมีป้ายเขียนบอกไว้ทั้งภาษาไทยและจีน สำหรับภาษาไทยอ่านได้ความว่าดังนี้

“เชิญนมัสการ พระพุทธบาทใหม่ (เขาเลี้ยว) วัดกัลยาณบรรพต เชิญนมัสการ พระบาทเขาเลี้ยว”

๒๔๙๕ - อดีตกาลอันล่วงพ้นมาแล้วประมาณ ๙ ปี ซึ่งในกาลนั้น นาม “เขาเลี้ยว” ยังหามีความสำคัญในทางพุทธศาสนาดั่งเช่นในปัจจุบันนี้ไม่ และในสมัยนั้น ผู้ที่จะคุ้นกับชื่อนี้ ก็เห็นจะมีแต่ชาวบ้านที่มีถิ่นฐานบ้านเรือนหรือถือกำเนิดในละแวกนั้นเท่านั้น ส่วนผู้ที่อยู่ห่างไกลออกไป เชื่อแน่ว่าน้อยคนนักที่จะรู้จักเขาเลี้ยว ยิ่งเป็นชาวกรุงเทพฯ ด้วยแล้ว อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อนี้เลยก็ว่าได้

และในปีนี้เองเป็นปีที่ปูชนียวัตถุอันควรแก่การสักการะบูชาของมวลพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ถูกค้นพบขึ้น ณ ที่นี้ ทั้งนี้โดยมีคณะผู้จาริกแสวงบุญคณะหนึ่ง อันมีพระครูกัลยาณวิสุทธิ์ หรือเป็นที่ทราบกันว่า หลวงพ่อวัดดอน อันเป็นที่เคารพนับถือของคณะพรมหศาสตร์ เป็นหัวหน้าคณะ ๒.นางสิน แช่มประชุม ๓.ท่านอาจารย์กำไล (ซึ่งในปี ๒๔๙๔ ท่านได้อุปสมบทอยู่ที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม) ๔.พระภิกษุเฮง แห่งวัดดอนทวาย (ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านยังเป็นฆราวาส)

๕.นายสงวน วนิชพงษ์ ๖.นายเฉลิม ชูมณีรัตน์ ๗.นายปรีชา ๘.นางเย็น ๙.นายวิทย์ ๑๐.นายบุญธรรม ๑๑.นางเวียน ๑๒.นางยวง ซึ่งบรรดาท่านที่ได้กล่าวนามมาแล้ว ๑๒ ท่านนี้ เรียกว่า “คณะพรหมศาสตร์”

รุ่งอรุณแห่งวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๙๕ เวลา ๗.๐๕ น. คณะพรหมศาสตร์คณะนี้ได้ออกเดินทางจากรุงเทพฯ โดยรถเร็วขบวนสายกรุงเทพฯ – พิษณุโลก มุ่งหน้าสู่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อการนมัสการพระพุทธชินราช ณ พระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

คณะพรหมศาสตร์คณะนี้ได้เดินทางถึงสถานีพิษณุโลกเมื่อเวลา ๑๗.๒๐ น. ของวันนั้น และได้ไปพักที่บ้านพักรถไฟ โดยการชักชวนของท่านผู้แสวงบุญที่ร่วมคณะไปในครั้งนั้นด้วย หลังจากที่ได้ทำการสักการะบูชาพระพุทธชินราชเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะพรหมศาสตร์คณะนี้ได้พักค้างคืนอยู่หนึ่งคืน

อรุณรุ่งแล้ว เสียงนกเสียงการ้องขานดังกังวานไปทั่วบริเวณบ้านพักรถไฟ เป็นสัญลักษณ์ของวันใหม่ ( ๑๘ ม.ค. ๒๔๙๕ ) เสียงนาฬิกาดังกังวานก้อง บอกเวลา ๐๕.๐๐ น. คณะพรหมศาสตร์ทุกคนรีบลุกขึ้นเตรียมตัวออกเดินทางต่อไปยังตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแลจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ซึ่งอยู่ในวัดพระแท่นศิลาอาสน์ รถไฟได้เคลื่อนขบวนออกจากสถานีพิษณุโลกเมื่อเวลา ๑๒.๔๕ น.

หลังจากที่ได้แยกกันไปหาอาหารกลางวันตามร้านที่อยู่ใกล้สถานีรับประทานกันเสร็จแล้ว นางสิน แช่มประชุม ก็บอกให้ทุกคนไปขึ้นรถยนต์สองแถว ซึ่งได้ว่าจ้างเป็นพิเศษ เพื่อเดินทางต่อไปยังวัดพระแท่นศิลาอาสน์ และในระหว่างทางคณะพรหมศาสตร์ได้แวะชมสถานที่ อันเป็นที่รู้จักกันดีในบรรดานักทัศนาจร นั่นก็คือ “น้ำตกสาลิกา” หรือ “น้ำตกนางนอง” ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันผิด ๆ แต่โดยตามที่ถูกแล้ว คนพื้นเมืองแถวนั้นเรียกกันว่า “น้ำตกหัวดง”

ที่ “น้ำตกหัวดง” แห่งนี้ พูดกันตามความจริงแล้วไม่มีอะไรที่น่าชมเท่าใดนัก นอกจากจะมี “น้ำตกหัวดง” และหุบเขาข้างทางแล้ว ก็มีกุฏิอยู่หลังหนึ่ง ซึ่งภายในมีพระพุทธรูปบูชาปั้นด้วยปูนซีเมนต์ ลักษณะปางสะดุ้งมารเท่านั้น เมื่อได้พักผ่อนที่ “น้ำตกหัวดง” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะพรหมศาสตร์จึงได้เดินทางกลับตามเส้นทางเดิมที่ผ่านไปจนถึงทางแยกลับแล จึงมุ่งหน้าไปสู่ลานพระแท่นศิลาอาสน์ ณ ที่นี้คณะพรหมศาสตร์ได้เข้าไปอาศัยบรรณศาลาโล่ง ๆ ที่สร้างอยู่กลางแจ้งหลังหนึ่ง เป็นที่พักหลับนอนในคืนนั้น

 

สิ่งมหัศจรรย์ที่คงอยู่

 

ก่อนจะได้เล่าต่อไป ก็ใคร่ขอเล่าถึงความมหัศจรรย์บางประการของพระแท่นศิลาอาสน์แห่งนี้ให้ท่านผู้อ่านที่สนใจได้ทราบไว้บ้างสักเล็กน้อย ณ ที่พระแท่นศิลาอาสน์นี้ ท่านที่ไปชมจะได้เห็นพวงระย้าทำด้วยทองลงหิน มีลักษณะบางอย่างคล้ายหลอดไม้รวก มีประมาณ ๗-๘ หลอด แขวนอยู่ตรงกลางแท่น และมีเชือกชักคล้ายจะเป็นสัญลักษณ์บอกถึงความจำนงอะไรสักอย่าง ในสถานศักดิ์สิทธิ์นี้ ทุกคนในคณะพรหมศาสตร์ที่ไป เริ่มสนใจต่อสิ่งแปลกนี้ และได้ผลัดเปลี่ยนกันทดลองเสี่ยงสัตย์อธิษฐานกันเป็นการใหญ่ เมื่อเสร็จจากการอธิษฐานก็ชักเชือกที่ติดอยู่กับพวงหลอดนั้นทันที ปรากฏว่ามีเสียงดังกังวานไพเราะ นั่นเป็นสัญลักษณ์บอกถึงการอธิษฐานของแต่ละบุคคล

หลวงพ่อวัดดอนได้อธิฐานชี้แจงถึงเรื่องที่มีเสียงดังกังวานอยู่นั้นให้ทราบโดยทั่วถึงกัน เป็นเรื่องที่น่าประหลาดอยู่ไม่น้อย และปรากฏภายหลังคำบอกเล่าของหลวงพ่อวัดดอนว่าพวงหลอดที่แขวนอยู่กลางพระแท่นนั้นเขาเรียกว่า “ระฆัง” เมื่อผู้ใดตั้งจิตอธิษฐานแล้วเสียงระฆังที่ดังได้ยินอยู่สิ้นสามารถ จะบอกถึงความปรารถนาของแต่ละบุคคลนั้นให้ทราบได้ หลวงพ่อวัดดอนท่านพอจะเข้าใจในสำเนียงของระฆังที่ดังอยู่นี้ได้ดี และท่านได้อธิบายได้ถูกต้องตรงกับคำอธิฐานของผู้ที่ชักระฆังทุกประการ เมื่อท่านได้ฟังเสียงระฆังที่คนชัก จึงเชื่อกันว่าระฆังนี้คงเป็นของศักดิ์สิทธิ์จริง เพราะทุกอย่างตรงตามเป้าหมายกับความปรารถนาในใจของผู้อธิษฐานทุกประการ

เรื่องขำอีกเรื่องหนึ่งที่ใคร่ขอนำมาเล่า ณ ที่นี้เพื่อเป็นการผ่อนคลายอารมณ์ของท่านผู้อ่านบ้างเล็กน้อย ก็คือ หลังจากที่คณะพรหมศาสตร์ได้นมัสการพระแท่นศิลาอาสน์แล้วก็ได้กลับไปที่บรรณศาลาโล่ง ๆ หลังเดิมนั้น เพื่อจะได้อาศัยนอนตามสมควร แต่พระคุณท่านทั้งสองเห็นว่า ถ้าขืนให้คณะแสวงบุญพักอยู่ที่ศาลาหลังนี้จะไม่ดีแน่เพราะต้องอาบลมห่มฟ้ากันตลอดคืนอย่างแน่นอน อันเป็นเรื่องที่ท่านห่วงใยอยู่มาก พระคุณท่านทั้งสองได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับท่านสมภารเจ้าอาวาสวัดพระแท่น ซึ่งท่านก็ไม่ยอมให้พักบนกุฏิ ท่านกลับบอกให้พักผ่อนอยู่ที่ศาลาตามเดิม พระคุณทั้งสองได้สนทนากับเจ้าอาวาสอยู่จนใกล้สนธยา ท่านหลวงพ่อวัดดอนเห็นจะไม่เป็นการแน่แล้ว เพราะท่านสมภารไม่ยอมให้พักบนกุฏิ หลวงพ่อวัดดอนจึงใช้วาทศิลป์ชั้นเชิงนิดหน่อย โดยให้นามบัตรแก่เจ้าอาวาสวัดพระแท่นไว้เป็นที่ระลึก

ท่านผู้อ่านที่รัก คราวนี้ได้ผลเกินความคาดหมาย คือพอเจ้าอาวาสวัดพระแท่นอ่านนามบัตรของหลวงพ่อวัดดอนเสร็จแล้ว ท่านก็กุลีกุจอจัดการต้อนรับทันที และสอบถามหลวงพ่อวัดดอนว่า ญาติโยมที่มาด้วยกันทั้งหมดมีกี่คน หลวงพ่อวัดดอนก็แจ้งให้ทราบว่ามีหลายคน เมื่อท่านสมภารได้ยินเช่นนั้นก็ให้เรียกบรรดาญาติโยมทุกคนให้ขึ้นไปพักผ่อนอยู่บนกุฏิของท่านให้หมด และให้การต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดี พร้อมกับจัดหมอน ผ้าห่มให้คนละผืนสองผืน ซึ่งพระคุณของพระคุณทั้งสองในครั้งนี้ คณะพรหมศาสตร์ จะขอจดจำและนึกถึงอยู่เสมอไม่มีวันลืมตราบเท่าทุกวันนี้ มิฉะนั้นแล้วคณะพรหมศาสตร์ คงจะต้องนอนหนาวสั่นสะท้านกันตลอดคืนเป็นแน่ เพราะขนาดที่นอนอยู่ในกุฏิของท่านสมภารยังอดสั่นสท้านไม่หยุดหย่อนจนกว่าจะรุ่งสว่าง

๐๕.๕๐ แห่งวันใหม่ ( ๑๙ ม.ค. ๙๕) คณะพรหมศาสตร์ทุกคนก็ออกเดินทางกลับสู่สถานีรถไปอุตรดิตถ์โดยรถยนตร์โดยสารคันเดิมซึ่งนางลินได้สั่งให้คนขับมารับในตอนเช้าวันนี้

ในตอนเช้าตรู่ ๐๗.๐๐ น. พวกเราทั้งหมดก็ได้ไปขึ้นรถไฟเดินทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดพิษณุโลกและได้พักค้างคืนที่บ้านพักรถไฟอีกคืนหนึ่ง

รุ่งขึ้น (๒๐ ม.ค.๙๕) คณะพรหมศาสตร์จึงได้ขึ้นรถไปสายพิษณุโลก-กรุงเทพฯ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า คณะพรหมศาสตร์จะกลับกรุงเทพฯเลยทีเดียว หากได้แวะลงเสียที่สถานีรถไปลพบุรี เพื่อไปเที่ยวและนมัสการพระพุทธบาทที่เขาวงพระจันทร์ ซึ่งอยู่ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง

คณะพรหมศาสตร์ ได้มาถึงสถานีรถไฟลพบุรีเป็นเวลาใกล้เที่ยง บรรยากาศกำลังร้อนระอุไปทั่วทุกหนทุกแห่ง และกว่าคณะพรหมศาสตร์จะเลือกหารถประจำทางต่อไปสู่เขาวงพระจันทร์ได้ก็เป็นเวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น.เศษ รถยนต์ประจำทางวิ่งสิ้นเวลาประมาณ ๓ ชั่วโมงเศษ ก็บรรลุถึงเขตลานวัดเขาวงพระจันทร์ ภาพปูชนียสถานที่จะแลเห็นได้ก่อนอื่น ณ ที่สถานที่นี้ คือ ศาลท่านเจ้าพ่อขุนด่าน ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า หลังจากนำรถเข้าสู่ลานวัดเขาวงพระจันทร์ หาที่จอดรถเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อวัดดอนจึงได้เลือกเอาศาลาใหญ่หลังหนึ่ง ซึ่งสร้างขึ้นอยู่ใกล้ ๆ เชิงเขา ซึ่งท่านเห็นว่าปลอดภัยดีต่อการพักผ่อนหลับนอน ท่านจึงได้พาคณะแสวงบุญเข้าพักอาศัยในศาลาหลังนี้ชั่วคราว

ผู้เขียนใคร่ขอเล่าถึงเรื่องเขาวงพระจันทร์เพื่อประดับความรู้ท่านผู้อ่านบ้างเล็กน้อย ปูชนียสถานที่สำคัญสถานที่นี้ได้แก่ รอยพระพุทธบาท และรูปพระปฏิมากรต่าง ๆ บนยอดเขา มีทางที่ขึ้นสู่ยอดเขาทำเป็นบันไดคอนกรีตมีประมาณ ๓,๗๐๐ คั่น ภายในอาณาเขตของเขาลูกนี้ นอกจากจะมีรอยพระพุทธบาทแล้ว ยังมีถ้ำและวัดอีกด้วย ภายในระยะ ๓ ปี มีงานนมัสการพระพุทธบาทบนยอดเขาวงพระจันทร์ ๑ ครั้ง คือ กลางเดือน ๑

๐๒.๐๐ น. เศษ คืนนั้น อันเข้าเขตปัจฉิมยาม ในขณะที่ชาวคณะพรหมศาสตร์ ทุกคนกำลังนอนหลับสนิท ท่านหลวงพ่อวัดดอนได้ปลุกผู้ที่นอนอยู่ใกล้ ๆ กันท่านประมาณ ๒-๓ คน ให้ลุกขึ้นดูระหว่างกึ่งกลางของลูกเขา ที่ปกคลุมมืดมนไปด้วยกอไม้ไผ่ป่า และไม้รวกยากที่จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยสายตาเปล่าได้ แต่ในระดับของครั่งลูกเขา ท่ามกลางแห่งความมืดสนิทนั้นเอง ได้มองเห็นแสงไฟเป็นดวง ๆ จับกลุ่มเป็นหมู่ ๆ ผ่านไปเหนือยอดไม้เป็นระยะ ๆ ดูเป็นทิวแถบวูบวาบอัศจรรย์ยิ่งนัก ด้วยความสงสัย ชาวคณะพรหมศาสตร์จึงได้สอบถามท่านหลวงพ่อวัดดอนว่า ที่เป็นดวง ๆ และเป็นหมู่ ๆ เหมือนแสงไฟประดุจเพลิงนั่นคืออะไรกันแน่ ท่านหลวงพ่อวัดดอนได้ออกความเห็นและชี้แจงถึงเหตุที่มาว่า “ที่เห็นเป็นดวง ๆ และเป็นหมู่ ๆ เหมือนแสงไฟประดุจเพลิงนั่น เขาเรียกว่า “สังขวานร” มีรูปร่างคล้ายลิงใส่เสื้อแดง นุ่งกางเกงแดง สองมือถือคบเพลิง เหินไปมาอยู่เหนือยอดไม้มีหน้าที่รักษาด่านระหว่างครึ่งลูกเขา” คณะพรหมศาสตร์ทุกคนได้เฝ้าดูความอัศจรรย์เคลื่อนไหวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่พอสมควร จึงเข้าหลับนอนต่อไป

อีกเรื่องหนึ่งอันเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ใคร่ขอนำมาเล่า ณ ที่นี้เพื่อท่านผู้อ่านจะได้พิจารณาว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น จะมีความจริงเพียงไร เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องที่คุณเฉลิม ชูมณีรัตน์ ผู้หนึ่งในคณะพรหมศาสตร์ที่ได้เดินทางร่วมไปในครั้งนั้น ได้ประสบมากับตัวเอง เป็นผู้เล่าว่า

การพักผ่อนหลับนอนได้ผ่านพ้นไปเข้าสู่รุ่งอรุณ ทุกคนต้องตื่นลุกขึ้นจากที่นอนอันแสนผาสุก เตรียมตัวพร้อมที่จะขึ้นสู่ยอดเขาวงพระจันทร์ ในยามเช้าตรู่ของวันใหม่นี้ เมื่อพระคุณท่านทั้งสองและบรรดาชาวคณะแสวงบุญได้เตรียมตัวพร้อมเรียบร้อยแล้ว การเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาวงพระจันทร์ก็เริ่มขึ้น เมื่อเดินขึ้นไปประมาณครึ่งของลูกเขา นายบุญธรรม พงษ์รัตน์ ได้กล่าวขึ้นเป็นประโยคแรกกับท่านหลวงพ่อวัดดอนว่า

“หลวงพ่อครับ ทำไมถึงจะได้มะขามป้อมกินแก้คอแห้งสักหน่อย”

ระหว่างทางขึ้นเขานี้ ทุกคนคอแห้งไปตาม ๆ กัน เพราะความเหน็ดเหนื่อยอ่อนปะปนกับความร้อนระคนกันไป การแก้ความกระหายน้ำดูเหมือนเป็นสิ่งสำคัญในขณะนั้น ท่านหลวงพ่อวัดดอนกับท่านอาจารย์กำไล ได้ฟังนายบุญธรรม พงษ์รัตน์ เอ่ยถามขึ้นเช่นนั้น พระคุณทั้งสองก็หัวเราะ หลวงพ่อวัดดอนก็พูดขึ้นเป็นเชิงกล่อมใจขึ้นว่า

“รอสักประเดี๋ยว เดี๋ยวเขาก็เอามาให้เอง”

คำพูดของท่านหลวงพ่อวัดดอน ก่อให้เกิดความงงงันแก่คณะแสวงบุญไปตาม ๆ กัน และพากันสงสัยว่า “หลวงพ่อวัดดอนท่านพูดเล่นหรือพูดจริงกันแน่” เพราะทุกคนมองดู ตั้งแต่เชิงเขาที่ขึ้นผ่านมาไม่มีทางจะมีมะขามป้อมแม้แต่สักผลเดียว เพราะเป็นฤดูเดือน ๓ แม้แต่ใบไม้ยังร่วงจนโกร๋นบางต้น แต่ยังมิทันที่ชาวคณะแสวงบุญจะหายสงสัยในคำพูดของหลวงพ่อวัดดอน

ณ เบื้องหน้าจากที่สูง ร่าง ๆ หนึ่งกำลังเดินสวนทางลงมา เสียงร้องดังมาแต่ไกล

“มะขามป้อมค่ะ แจกมะขามป้อม”

เสียงนั้นดังใกล้เข้ามาทุกที ร่างที่เห็นในระยะไกลก็ปรากฏชัดขึ้นในสายตา เป็นร่างของหญิงวัยกลางคน ตัดผมทรงดอกกระทุ่ม นุ่งผ้าถุงดำแบบพื้นเมืองอย่างชาวไร่หรือชาวป่านั่นเอง ค่อย ๆ เดินสวนลงมา ผ่านหน้านายเฉลิม ชูมณีรัตน์ ( ผู้เล่าเรื่องนี้)ไป และหยุดลงนั่งยกมือไหว้พระคุณท่านทั้งสอง นำเอามะขามป้อมเท่าที่มีอยู่ถวายจนหมด หลวงพ่อวัดดอนได้เอาผ้าที่ติดตัวไปด้วยรับมะขามป้อม

ทุกคนในคณะแสวงบุญต่างมองตากัน อ้าปากค้างจะทักถามก็ไม่มีเสียงผ่านจากลำคอสักคำเดียว เมื่อหญิงวัยกลางคนถวายมะขามป้อมเสร็จ แล้วก็เดินลงบันไดต่อไป ชั่วระยะห่างประมาณ ๓ เมตรเศษ ๆ หญิงวัยกลางคนก็หายวับไปต่อหน้าต่อตา ทั้งที่แสงแดดออกจ้า ทำเอาทุกคนตกตลึง เพราะหญิงวัยกลางคนนั้นหายเข้าไปที่ข้างกอไม้ไผ่ข้างทางเดินนั่นเอง ทุกคนในคณะได้ซักถามหลวงพ่อวัดดอนเป็นการใหญ่ หลวงพ่อวัดดอนได้ชี้แจงว่า หญิงวัยกลางคนที่นำเอามะขามป้อมมาถวายนั้น คือมนุษย์กายทิพย์ เขาเรียกว่า ลับแลชาวเขา

เมื่อพูดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขาวงพระจันทร์นี้มีมายมาย ผู้เขียนไม่อาจสามารถที่จะนำมาเล่าสู่ให้ฟังได้ทั้งหมด ณ ที่นี้ แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่เชื่อกันว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขาวงพระจันทร์นี้มีไม่น้อยกว่าที่อื่น ที่ได้เคยผ่านกันมามากต่อมากแล้ว แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ว่านี้เป็นเรื่องของทิพย์กายทั้งสิ้น หรือเรียกว่า ผู้มีกายทิพย์นั่นเอง

การเดินขึ้นสู่ยอดเขาวงพระจันทร์สิ้นเวลาหลายชั่วโมงจึงถึงยอดเขา เมื่อหยุดพักผ่อนพอหายอ่อนเพลีย จึงได้พากันแยกย้ายไปนมัสการตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขานั้น ภัตตาหารเพลสำหรับท่านพระคุณเจ้าทั้งสอง และอาหารมื้อกลางวันของบรรดาชาวคณะในวันนั้น ได้จัดให้มีขึ้นบนยอดเขาวงพระจันทร์นั่นเอง

คณะพรหมศาสตร์ได้อยู่ชมบรรดาสิ่งสักการะทั้งหลาย และพักผ่อนอยู่บนยอดเขาจนกระทั่ง ๑๕.๐๐ น. ผ่านพ้นไป จึงมุ่งหน้าเดินทางลงสู่เชิงเขาเบื้องล่าง

๑๘.๐๐ น.เศษ จึงเข้าสู่ลานวัดเชิงเขา คืนนี้คณะพรหมศาสตร์คงพักหลับนอนอยู่ที่ศาลาหลังใหญ่อีกหนึ่งคืนด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า และอ่อนเพลียไปตาม ๆ กัน

สู่พระพุทธฉาย

 

ฟ้าสาง เสียงไก่ขันก้องไปทั่วบริเวณรอบ ๆ แสงทองเรืองรำไรส่องโลก เป็นสัญลักษณ์แห่งวันใหม่เริ่มแล้ว นั่นคือ เช้าวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๙๕ หลังจากได้จัดการกับอาหารมื้อเช้าเป็นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะพรหมศาสตร์จึงได้ขึ้นรถเมล์สองแถว “เขาวงพระจันทร์-พระพุทธบาท” มุ่งหน้าสู่ลานพระพุทธบาทใหญ่ รถได้เคลื่อนออกจากลานวัดเขาวงพระจันทร์ไม่เกิน ๐๙.๐๐ น. และได้มาถึงลานพระพุทธบาทใหญ่เวลาประมาณ ๑๑.๒๐ น.

เมื่อลงจากรถแล้ว ต่างคนต่างก็ไม่รู้จะไปพักกันที่ไหน ได้แต่ยืนปรึกษาหารือหันซ้ายหันขวาเหลียวหน้าเหลียวหลังอยู่ประมาณสักครู่ มีหญิงชายคู่หนึ่ง ซึ่งมารอคอยรับอุบาสกที่จะมานมัสการพระพุทธบาท ชักชวนเชิญให้ไปพักที่บ้าน ซึ่งท่านพระคุณทั้งสองและคณะแสวงบุญก็ตกลงไปพักที่บ้านตามคำชักชวน

หลังจากที่ได้อาบน้ำชำระกายเป็นที่เรียบร้อย และได้สนทนากับเจ้าของบ้านในบ่ายวันนั้น จึงได้ทราบว่าบ้านที่พักนั้น คือ บ้านขุนโขลน ซึ่งอยู่ ณ ที่นั้นมาเป็นเวลานาน นับแต่สมัยพระพุทธบาทยังไม่เจริญ การพักผ่อนของคณะพรหมศาสตร์ที่บ้านนี้ ได้รับความสะดวกสบายทุกประการ ซึ่งคณะพรหมศาสตร์ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างมากไว้ ณ ที่นี้ด้วย

เช้าของวันรุ่งขึ้น หลังจากที่พระคุณท่านทั้งสองได้ฉันภัตตาหารที่จัดถวายเสร็จสิ้นแล้ว คณะแสวงบุญจึงได้ว่าจ้างเจ้าของบ้านที่พักอยู่นั้น เพื่อไปนมัสการพระพุทธฉายกันก่อน แล้วจึงย้อนไปค้นหารอยพระพุทธบาทใหม่

การไปนมัสการพระพุทธฉายในคราวนี้ มีเรื่องแปลกแต่จริงที่จะขอนำมาเล่า ณ ที่นี้คือ ในขณะที่คุณเฉลิม ชูมณีรัตน์ ลงจากรถแล้วเดินมายืนอยู่ตรงกลางสนาม มองขึ้นไปตรงบันไดทางขึ้นทางด้านขวาของพระพุทธบาท จะมองเห็นเป็นรูปฤาษีนั่งอยู่ตระหง่านบนเชิงผาสูง คุณเฉลิมจึงได้เรียกใครต่อใครในคณะแสวงบุญให้มาดู และร้องบอกกันต่อ ๆ ไปว่าพระฤาษีท่านมาคอยรับอยู่ที่เชิงผาสูงมาก ๆ คนมองขึ้นไปก็เห็นจริงอย่างเดียวกัน คุณเฉลิมจึงได้มุ่งหน้าเดินนำหน้าขึ้นบันไดไปก่อนและคณะจึงได้ตามกันเป็นระยะ ๆ ไป

แต่มันอัศจรรย์จริง เมื่อคณะแสวงบุญได้ขึ้นไปถึงข้างบน รูปที่เห็นเป็นฤาษีแต่แรกนั้นกลับกลายเป็นหลวงพ่อรูปปั้นด้วยหินปูน นั่งแบบปางสะดุ้งมาร ไม่ยักใช่ฤาษี ท่านหลวงพ่อวัดดอนได้กรุณาบอกให้บรรดาชาวคณะให้ทราบว่า หลวงพ่อรูปปั้นด้วยหินปูนองค์นี้ รูปภายในเป็นฤาษี ชื่อ “โอชิก” หลังจากปิดทองหลวงพ่อรูปปั้นองค์นั้นเสร็จแล้ว คณะพรหมศาสตร์เลยเข้าสู่หน้าพระพุทธฉายปิดทองนมัสการ

ตะวันเคลื่อนค้อยต่ำลับทิวหมู่แมกไม้เบื้องหน้าอันไกลโพ้น พระคุณท่านทั้งสองกับคณะแสวงบุญได้นมัสการพระพุทธฉาย กลับมาสู่ลานพระพุทธบาทใหญ่ โดยรถยนต์ที่ว่าจ้างเหมาจากเจ้าของบ้านขุนโขลน โดยย้อนกลับผ่านจังหวัดสระบุรี มุ่งหน้าเข้าสู่ลานพระพุทธบาท เพื่อกลับบ้านพักของอุบาสกที่บ้านขุนโขลน

ก่อนที่ผู้เขียนจะได้นำท่านผู้อ่านไปสู่เรื่องราวแห่งการค้นรอยพระพุทธบาทใหญ่ที่เขาเลี้ยวในครั้งนี้ ผู้เขียนก็ใคร่ที่จะขอเล่าถึงสาเหตุแห่งการพบรอยพระพุทธบาทใหม่นี่สักเล็กน้อย เพราะบางทีอาจมีท่านผู้อ่านบางคนสงสัยได้ว่า ทำไมคณะพรหมศาสตร์จึงได้ทราบว่า มีรอยพระพุทธบาทใหม่อยู่ที่เขาเลี้ยวนี้

ทั้งนี้เนื่องจากในปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ สามเณรกำไลได้เดินทางจากกรุงเทพ พร้อมกับคุณหลวงอาทร (ซึ่งบัดนี้ได้ถึงแก่กรรมแล้ว) มาสู่ยังเขาเลี้ยว เพื่อแสวงหาสมุนไพรบางอย่าง ซึ่งไม่มีจำหน่อยตามร้านขายยาเครื่องยาในกรุงเทพฯ ที่หลังถ้ำสิงห์โต และได้มาพบรอยพระพุทธบาทนี้โดยบังเอิญ ซึ่งในชั้นแรก ท่านก็ยังมีความสงสัยอยู่เหมือนกันว่า จะใช่รอยพระพุทธบาทหรือไม่ และเมื่อสามเณรกำไลได้สมุนไพรตามที่ต้องการแล้ว ท่านก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ แต่มิได้เล่าเรื่องที่ได้พบเห็นมาให้ใครฟังเลย และได้ละทิ้งเหตุการณ์ให้ผ่านพ้นไปเป็นเวลานาน จนสถานที่นั้นก็จำไม่ได้แน่นอนคลาดเคลื่อนไป

ต่อมาภายหลัง หลังจากที่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุกำไลแล้ว และได้เดินทางเพื่อไปนมัสการสถานที่ควรสักการะต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น การค้นหารอยพระพุทธบาทใหม่จึงได้เริ่มต้นขึ้นอีกวาระหนึ่ง

 

ค้นรอยพระพุทธบาท

 

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ รุ่งอรุณแห่งเช้าวันที่ ๒๖ เดือนมกราคม หลังจากที่ได้จัดการกับอาหารมื้อเช้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะพรหมศาสตร์ก็ได้เตรียมตัวที่จะออกเดินทางค้นหารอยพระพุทธบาทต่อไป

เวลา ๐๘.๐๐ น. เศษ ๆ คณะแสวงบุญก็ได้เริ่มเดินทางออกจากบ้านขุนโขลน เดินผ่านลานพระพุทธบาทใหญ่ เลี้ยวออกทางข้างโรงเจใหม่ท้ายลานพิกุล เดินลัดไปตามทางรถไฟเก่าของกรมดาราที่เลิกใช้แล้ว และถูกละทิ้งจนกลายสภาพเป็นทางเดินเท้าของชาวบ้านแถวนั้น คณะแสวงบุญพร้อมด้วยพระคุณท่านทั้งสอง ได้พากันเดินห่างจากพระพุทธบาทใหญ่ประมาณ ๒ กิโลเศษ จึงพบภูเขาลูกหนึ่งซึ่งไม่ใหญ่โตอะไรนัก เป็นภูเขาขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของศาลาท่านเจ้าพ่อเขาตก ห่างประมาณครึ่งกิโลเมตร ท่านอาจารย์กำไลจึงหันมาบอกกับคณะแสวงบุญว่าเห็นจะเป็นเขาลูกนี้ ท่านก็ยังไม่รับรองเพราะความทรงจำได้เลือนไปแล้ว กอรปทั้งเป็นเวลานาน ๖ กว่าปีมาแล้ว ที่ท่านได้พบและสงสัยอยู่ว่าจะเป็นพระพุทธบาทใหม่ คณะแสวงบุญจึงพร้อมใจตกลงกันว่าจะทดลองขึ้นไปค้นดู จึงมุ่งหน้าไปสู่เขาลูกนั้น ซึ่งบรรดาชาวคณะแสวงบุญทั้งหมดต่างก็ไม่มีผู้ใดได้รู้จักชื่อของภูเขานั้นมาก่อนเลย ลักษณะของเขาลูกนี้ไม่สูงนัก มีกอไผ่ขึ้นเบียดเสียดมากมาย แต่พอเหมาะกับหน้าแล้วร้อนจัด ใบไม้ร่วง จึงไม่ค่อยสู้จะมีใบมากเท่าไรนัก ไผ่บางลำดูคล้ายไม้รวก เพราะไม่มีใบติดเลย สลัดใบไปตามฤดูกาล คณะแสวงบุญจึงได้เดินเลาะลัดป่าไม้และต้นไม้ พื้นป่าธรรมชาติที่ขึ้นอยู่สลับซับซ้อนกัน มุ่งขึ้นไปบนยอดเขา การเดินทางเป็นไปด้วยความลำบากยิ่งนัก เต็มไปด้วยขวากหนามบ้าง เถาวัลย์บ้าง กีดขวางทางที่ไปทั่วทุกหนทุกแห่ง

ด้วยความศรัทธาอันแก่กล้าและความมานะของแต่ละบุคคลในคณะแสวงบุญ ต่างได้พากันไต่เขาลูกนี้และค้นหารอยพระพุทธบาทโดยละเอียด อย่างไม่มีผู้ใดท้อถอย

ท่ามกลางแสงแดดอันแก่กล้าที่สาดแสงส่องไปทั่วพื้นธรณี ร้อนระอุเหงื่อโทรมทั่วร่างกายของแต่ละบุคคล แต่ก็ไม่มีผู้ใดปริปากบ่นแม้แต่น้อย ต่างมุ่งหน้าค้นหาด้วยความกระหายอยากใคร่พบเป็นอย่างยิ่ง เมื่อไต่ขึ้นไปถึงครึ่งของลูกเขา ท่านอาจารย์กำไลจึงมีความเห็นให้แยกทางกันไปคนละทางและท่านได้ชี้แจงว่า

ถ้าหลวงพ่อวัดดอนจะตามขึ้นไปด้วยนั้นรู้สึกว่าจะลำบากมาก จึงได้ลัดอ้อมลูกเขาให้ไปคอยอยู่ทางด้านหลังเขาพร้อมกับคณะแสวงบุญ ที่แบ่งแยกกันออกเป็น ๒ พวก ส่วนท่านอาจารย์กำไล ซึ่งท่านเป็นผู้นำค้นหารอยพระพุทธบาทนั้น โดยมีนายเฉลิม นายวิทย์ นายบุญธรรม นายสงวน เป็นผู้ติดตามค้นหา ได้มุ่งหน้าขึ้นไปสู่ยอดเขา

เมื่อถึงยอดเขา จึงเที่ยวค้นหาตามไหล่เขาบ้าง ตามที่ราบบนยอดเขาบ้าง จนทั่วก็ไม่พบร่องรออะไร จึงพากันลงสู่เชิงเขาลูกนั้น

ขณะที่กำลังเดินลงอยู่นั้นก็ได้ยินเสียงของคณะแสวงบุญที่แยกไปคอยอยู่เบื้องล่างที่ทางด้านหลังเขา พร้อมด้วยหลวงพ่อวัดดอน ตามที่ได้กำหนดนัดหมายกันไว้กู่เรียกหาขึ้น คณะทั้งสี่จึงกู่รับแล้วร้องบอกไปว่าอยู่ทางนี้กำลังเดินลงจากยอดเขา แต่ทุกคนที่อยู่ข้างล่างเขานั้นกลับได้ยินเสียงบอกให้ขึ้นไปบนยอดเขา จึงได้พากันเดินขึ้นไปสู่ยอดเขาพร้อมด้วยหลวงพ่อวัดดอน ไม่มีใครเหลืออยู่ข้างล่างเลย และได้ขานกู่รับอยู่ข้างบนครึ่งลูกเขา ท่านอาจารย์กำไลกับคณะอีกสี่คนจึงกู่ร้องเรียกให้กลับลงมาสู่พื้นดินเชิงเขาที่รอคอยอยู่เบื้องล่าง

เมื่อทุกคนลงมารวมกันพร้อมแล้ว จึงนึกถึงเวลาที่ได้ผ่านไป ยกนาฬิกาข้อมือขึ้นดู เวลาใกล้ ๑๑.๐๐ น. ทุกคนจึงได้เลือกสถานที่ ได้โคนไผ่ใกล้เชิงเขานั้น พอจะอาศัยร่มเงากันแดดได้บ้าง คณะแสวงบุญจึงได้จัดภัตตาหารนำออกถวายหลวงพ่อวัดดอน และท่านอาจารย์กำไล อาหารมื้อนี้มีข้าวหุงธรรมดาติดไปถวายพระคุณท่านทั้งสองเพียงเล็กน้อยกับข้าวหลาม มีไข่ต้มเป็นปริโยสารโดยที่สุด และสิ่งอื่น ๆ สิ่งละอันพันละน้อยตามสมควรเท่าที่มีอยู่ เมื่อเสร็จจากการดูแลถวายภัตตาหารเพลพระคุณท่านทั้งสองได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ทุกคนจึงหันมาจัดการกับอาหาร โดยช่วยตนเองสุดแล้วแต่ใครจะถนัดรับประทานอะไรตามใจชอบ

ขณะที่นั่งรับประทานอาหารอยู่นั้น มีนายพรานป่าล่าสัตว์สองนายเดินเข้ามาหา มือถือปืนคาบศิลาคนละหนึ่งกระบอก ท่านอาจารย์กำไลจึงได้สอบถามหาถ้าสิงห์โต แต่นายพรานป่าทั้งสองคนตอบไม่ได้ใจความ จึงหาหลักฐานแน่นอนอะไรไม่ได้ การพักผ่อนอยู่เชิงเขาลูกนี้ เวลาได้ล่วงเลยผ่านไปชั่วโมงเศษ จึงได้ชวนกันออกเดินทางมุ่งตรงไปสู่ศาลเจ้าพ่อเขาตก ด้วยความผิดหวังเป็นครั้งแรก แต่ทั้ง ๆ ที่ได้รับความผิดหวัง ทุก ๆ คนก็ยังเดินยิ้มหัวเราะด้วยความสนุกต่อการบุกป่าดงพงทึบ ซึ่งทุกคนไม่สันทัดเจนจัดในการบุกไพรมาก่อนเลย

เมื่อถึงศาลท่านพ่อเขาตก คณะพรหมศาสตร์จึงยึดเอาศาลาหลังเล็ก ซึ่งปลูกไว้สำหรับให้คนที่มากราบไหว้บูชาท่านเจ้าพ่อเขาตก เป็นที่พักผ่อนกันแดดชั่วระยะเวลาหนึ่ง ท่านอาจารย์กำไลจึงได้ออกความเห็นขอร้องให้หลวงพ่อวัดดอน และคณะแสวงบุญคอยกันอยู่ที่ศาลท่านเจ้าพ่อเขาตก ส่วนตัวท่านชี้แจงว่าจะออกเดินทางไปค้นหารอยพระพุทธบาทใหม่ให้พบเสียก่อน

เมื่อค้นพบแล้วจะมาตามหรือให้อาณัติสัญญาณคอยด้วยการสละจีวรเป็นธง ขึ้นไปผูกไว้บนยอดไม้ให้เห็นชัดและเป็นเครื่องหมาย บอกถึงการได้ค้นพบแล้วโดยแน่นอน

เมื่อได้ตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านอาจารย์กำไลกับนายเฉลิม พร้อมด้วยนายวิทย์และนายสงวนได้ออกเดินทางมุ่งตรงไปสู่เชิงเขาลูกนั้นตามที่ชาวบ้านบอกว่าที่นั่นคือ ถ้ำสิงห์โต

ท่านสามเณรได้นำเดินอ้อมเขาลัดเลาะขึ้นมาถึงเชิงเขาหาทางที่ขึ้นไปสู่ถ้ำสิงห์โต โดยแยกออกจากทางเกวียนที่ได้ทิ้งรอยไว้ เวลาผ่านไปครู่ใหญ่ก็เขาสู่เชิงเขาและอ้อมลูกเขาลงมาทางทิศใต้มุ่งหน้าขึ้นสู่ทางขึ้นไปสู่ทางทิศตะวันออก ไต่ขึ้นสู่เขาเดินลัดเลาะเพื่อหางขึ้นไปสู่ถ้ำสิงห์โต แต่ก็ยังหาไม่พบร่องรอยอะไรจะเป็นทางขึ้นได้ จึงพากันบุกป่าไม้ลวก ขวากหนามและเถาวัลย์ สามเณรก็พยายามเอามีดที่ถือมาตัดถางสิ่งที่กีดขวางทางขึ้นตลอดทาง

เดินลัดเลาะกันอยู่ครู่ใหญ่ สามเณรจึงพูดขึ้นว่า “ผมมาหาเครื่องยาทุกวัน ทางขึ้นถ้ำสิงห์โตก็จำได้แม่นยำดี แต่ทำไมวันนี้จึงหาทางขึ้นไม่ได้” ทำเอาทั้งอาจารย์กำไลและคณะทั้งสี่รู้สึกอ่อนเพลียไปตาม ๆ กัน แต่ก็ไม่ยอมท้อถอยแต่อย่างใด พยายามปีนป่ายขึ้นไปตามแง่หินเท่าที่จะขึ้นได้ ทุกซอกทุกมุมด้วยความพยายาม ถึงแม้จะลำบากยากเข็ญสักเพียงใด ก็มานะอดทนจนถึงที่สุด

ท่านอาจารย์กำไล นึกถึงเหตุการณ์อันน่าแปลกประหลาดที่ท่านสามเณรกล่าวเช่นนั้น จึงสำนึกขึ้นมาได้ว่าท่านไม่ได้ขอเปิดทางต่อท่านเทพยดา ปู่เจ้าขุนเขา ซึ่งท่านเป็นผู้ดูแล ให้ความคุ้มครองรักษาอยู่ที่สถานภูเขาลูกนี้เป็นการขออนุญาตเสี่ยงบารมีที่ได้บำเพ็ญกรณียกิจมาตราบเท่าทุกวันนี้ของแต่ละบุคคล ครั้นแล้วทุกคนจึงได้เจริญธรรมสาธยายมนต์องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ แล้วจึงสำรวมจิตเป็นสมาธิมุ่งหน้าเดินเลาะลัดหาทางขึ้นสู่ถ้ำสิงห์โตต่อไป

คณะทั้งหมดเดินค้นหาทางขึ้นอยู่ประมาณ ๔๐ นาทีเห็นจะได้ จึงพบทางเดินเล็ก คล้ายกับเป็นทางที่ชาวบ้านพื้นเมืองแถบนั้นขึ้นลงหาหน่อไม้ และตัดไม้เพื่อประกอบเป็นอาชีพ จึงได้พากันเลาะลัดและต่ายขึ้นไปตามทางนั้นดูเป็นที่สูงและเป็นหน้าผาชัน บางครั้งก็เป็นที่ราบปกคลุมไปด้วยพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด

เมื่อสามเณรนำทางขึ้นไปใกล้จะถึงยอดเขา ก็ได้พบเห็นเป็นที่ราบ และพบหลุมเล็กๆ มีลักษณะคล้ายรอยเท้าของสัตว์ขนาดใหญ่ มีน้ำขังอยู่ และมีใบไม้ร่วงหล่นลงไปในบ่อน้ำนั้น ความกว้างประมาณ ๑ เมตรเศษ มีแมลงผึ้งคลุกเคล้าไต่ตอมอยู่ตลอดเวลา ภายในน้ำมีแต่ตัวไรทั้งสิ้น สามเณรจึงได้นำคณะพาเดินไปประมาณ ๑๒ เมตรเศษ จึงได้พบปากถ้ำสิงห์โต คราวนั้นได้ผลแน่ ที่ปากถ้ำกว้างใหญ่ ชะโงกลงไปดูภายในถ้ำ มีบันไดไม้เก่า ๆ พิงทอดไปสู่เบื้องล่าง ภายในถ้ำมองดูด้านบนของหินที่ปกคลุมอยู่เป็นหน้าผาสูงชันตระหง่าน ชาวคณะทั้งหมดจึงได้หยุดพักผ่อนกันอยู่เวลาประมาณ ๑๐ นาที

เมื่อพักผ่อนตามสมควรแล้ว ท่านอาจารย์กำไลและสามเณร พร้อมด้วยคณะติดตามทั้ง ๔ คน จึงได้ออกเดินสำรวจค้นหารอยพระพุทธบาทใหม่กันเป็นการใหญ่ มุ่งตรงไปทางด้านตะวันออกอันเป็นที่ราบ แต่ก็ยังไม่พบรอยอะไร ที่ราบแห่งนี้ปรากฏชื่อภายหลังโดยชาวบ้านป่าเขาเรียกว่า “ทางไปสู่ลานมะเกลือ” อันเป็นที่ราบกว้างขวางอยู่สักหน่อย รอบ ๆ บริเวณยอดเขานี้ เต็มไปด้วยกอไม้ลวกและต้นสมุนไพรนานาชนิด มากมายกลาดเกลื่อน

การค้นรอยพระพุทธบาทใหม่นี้ เนื่องจากอาจารย์กำไลได้ลืมเลือนไป จำสถานที่ไม่ได้แน่นอน จึงจำเป็นอยู่เองที่ต้องเสียเวลาค้นกันอยู่นาน เมื่อค้นทางด้านทิศตะวันออกไม่พบแน่แล้ว จึงได้เดินค้นไปทั่วก็ยังไม่พบ เวลาได้ผ่านไป ดวงอาทิตย์คล้อยต่ำลงมาก ท่านอาจารย์กำไลนำคณะเดินค้นหาต่อไปอย่างไม่ยอมลดละ พร้อมกับประกาศว่า ถ้าค้นรอยพระพุทธบาทใหม่ไม่พบจะไม่ยอมกลับ เป็นการตั้งสัจจะของอาจารย์กำไลไว้อย่างหนักแน่น โดยไม่ยอมท้อถอยอย่างใดและท่านอาจารย์กำไลได้กล่าวกับคณะทั้งสามคนว่า ถ้าไม่พบให้คุณเฉลิมและคณะทั้งหมดกลับไปก่อน ส่วนตัวท่านจะอยู่ที่เขานี้เพื่อค้นหารอยพระพุทธบาทต่อไป

เมื่อท่านอาจารย์กำไลกล่าวเสร็จ จึงได้หันมาบอกกับคณะทั้งสาม ให้เดินกลับมุ่งหน้าเข้าสู่ด้านหลังของถ้ำสิงห์โต และท่านอาจารย์กำไลได้ทบทวนความทรงจำอีกครั้งตามที่ท่านได้พบเห็นมานั้น ซึ่งท่านก็จำได้เลือน ๆ ว่า ไม่ห่างกับหลังถ้ำสิงห์โตเท่าใดนัก

ทั้งหมดจึงได้พร้อมใจกันเดินมุ่งตรงลัดข้ามก้อนหินที่ตั้งอยู่เรียงรายสลับซับซ้อน ดูกีดขวางไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ขณะที่เดินค้นหาอยู่นั้นได้มองเห็นต้นปาริชาติปกคลุม มีดอกชูช่อไสวหอมอบอวลไปทั่วบริเวณ

ชาวคณะทั้งหมดจึงได้ช่วยกันแหวกซุ้มปาริชาติที่ปกคลุม ดูคล้ายเหมือนสิงห์หมอบออก และดึงเอากิ่งก้านปาริชาติที่ปกคลุมอยู่นั้นให้หันออกไปเสียทางหนึ่ง และ ณ ที่นี้เองทุกคนก็ได้พบรอยยาวประมาณ ๒ เมตร กว้างประมาณ ๑ เมตรเศษ ภายในรอยนั้นมีใบไม้ล่วงหล่นอยู่เต็มไปหมด และภายในรอยนั้นมีน้ำขังอยู่เล็กน้อยประมาณ ๒-๓ ขันใหญ่ ท่านอาจารย์กำไลพร้อมด้วยคณะทั้งสาม เมื่อมองเห็นเพียงลักษณะเท่านั้นยังไม่แช่ชัด แต่ก็ยังเกิดความปลื้มปีติขึ้นมาในทันทีทันใด ยังความอ่อนเพลียที่มีอยู่หายไปฉับพลัน

หลังจากที่ได้ยืนสงบสติอารมณ์กันอยู่ชั่วขณะหนึ่ง และความร้อนระอุจากแสงแดด และไอดินระเหยเหือดหมดสิ้นไปแล้ว ท่านอาจารย์กำไล จึงได้เตือนสตินายเฉลิมกับนายวิทย์ ให้เก็บกวาดเอาใบไม้ล่วงหล่นที่อยู่ภายในลานนั้นออกให้หมด คุณเฉลิมกับนายวิทย์ทั้งสองคนจึงได้ปฏิบัติตามอย่างเร่งรีบ ช่วยกันทำความสะอาดจนหมดสิ้น ตลอดจนผงที่กลายเป็นดิน จึงพบเป็นรูปรอยของเท้าโค เหยียบซ้อนรอยอยู่บนรอยใหม่

ขณะนั้นเป็นเวลา ๑๖.๓๐ น. ท่านอาจารย์กำไลจึงได้ให้นายวิทย์ วงศ์แสงทอง เป็นผู้ลงจากเขาไปตามหลวงพ่อวัดดอน กับคณะที่รอคอยอยู่ที่ศาลท่านเจ้าพ่อเขาตก ส่วนตัวท่านอาจารย์กำไล สามเณร นายเฉลิม และนายสงวน ได้นั่งพักผ่อนเอาแรงรอคอยหลวงพ่อวัดดอนกับคณะจนกว่าจะพากันขันมาถึงรอยพระพุทธบาทอใหม่นี้

เวลาได้ผ่านไปประมาณ ๒๐ นาที หลวงพ่อวัดดอน และคณะแสวงบุญทั้งหมดก็ขึ้นมาถึงรอยพระพุทธบาทใหม่ อันปรากฏให้เห็นเด่นชัดว่าเป็นรอยพระพุทธบาทแน่นอน ทุกคนต่างก็ยกมือขึ้นสาธุการ และรีบจุดธูปเทียนทอง นำออกสักการะโดยทั่วกัน ลืมความเหนื่อยยากที่ผ่านมาจนหมดสิ้น มีแต่ความปลื้มปีติด้วยความศรัทธา และบุญบารมีของแต่ละบุคคลที่ได้สร้างสมมาด้วยสิ่งละอันพันละน้อย จนได้พบรอยพระพุทธบาทใหม่นี้

หลวงพ่อวัดดอน ท่านได้นั่งพิจารณาสอบดูลักษณะของรอยที่ได้พบเห็นโดยแน่ชัด เวลาผ่านไปประมาณครู่ใหญ่ ท่านจึงลงความเห็นว่าเป็นรอยพระพุทธบาทข้างซ้ายแน่ไม่ผิด และท่านได้ยืนยันอย่างหนักแน่น ซึ่งในโอกาสนี้ ท่านหลวงพ่อวัดดอนจึงได้เริ่มเล่าเหตุการณ์ที่นายวิทย์ลงไปตามตอนลงจากเขาให้ฟัง

ท่านหลวงพ่อวัดดอนได้เล่าว่า ท่านและคณะแสวงบุญได้นั่งคอย อยู่ศาลาท่านเจ้าพ่อเขาตกจนอ่อนใจ ก็ไม่เห็นมีใครกลังมาส่งข่าว ท่านจึงได้ชวนคณะแสวงบุญออกติดตามมา เพราะเห็นว่าเวลาก็เย็นลงมากแล้ว เมื่อไม่พบก็กลับเอาไว้คราวหน้าจึงมาค้นหากันใหม่ ฉะนั้นจึงได้พากันออกเดินทางมาได้ครึ่งทาง ใกล้จะถึงเขาที่ขึ้นค้นรอยพระพุทธบาทใหม่ ท่านจึงมองเห็นนายวิทย์วิ่งลงมาหาอย่างผิดปกติ

ท่านหลวงพ่อวัดดอนสังเกตเห็นตัวนายวิทย์มีรูปร่างตัวสั้นเตี้ย แขนขาสั้น หน้าตาบอกลักษณะน่ากลัว เป็นรูปของนางสิงห์ ที่เขาแฝงอยู่ในร่างของนายวิทย์ หลวงพ่อวัดดอนท่านจึงรู้ได้ทันทีว่า ได้ค้นพบรอยพระพุทธบาทใหม่แล้ว เขาจึงมารับให้ขึ้นไป

เมื่อยายวิทย์วิ่งมาถึงหลวงพ่อวัดดอนแล้ว “นางสิงห์” จึงได้ออกจากร่างของนายวิทย์หายไป เพราะเมื่ออยู่บนยอดเขานั้น นายวิทย์กลัวจะขึ้นลงไม่ถูกได้บ่นพึมพำ ท่านนรสิงห์คงจะได้ยินเข้า และนึกรำคาญใจ จึงได้เข้าสู่ร่างเป็นผู้นำทางให้เสียเอง แต่เขาลูกนี้ชาวบ้านป่าแถบนั้นกลัวนักกลัวหนา ห้ามคณะแสวงบุญไม่ให้ขึ้นไปบนยอดเขา และได้แจ้งว่ามีเป็นที่สำนักโจรโพกหัวหนวดเครารุงรังน่ากลัวอยู่เป็นส่วนมาก ถ้าขึ้นไปอาจจะมีอันตราย คณะแสวงบุญก็ไม่ยอมฟังคำเกี่ยวกับอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น จิตศรัทธาเลื่อมใสในคำว่า “บุญ” เป็นเหตุใหญ่

 

ลาแล้วพระบาทใหม่

 

ดวงอาทิตย์คล้อยต่ำใกล้อัสดงคต สุริยศรีกำลังจะลับยอดไม้รำไร หมู่วิหคต่างโผบินกลับสู่รวงรัง สถานที่นั้นสงบเงียบวิเวก สายลมเย็นพัดพัดเฉื่อยฉิว ยังความชุ่มชื้นให้แก่คณะแสวงบุญทุกคน หลังจากการบนมัสการรอยพระพุทธบาทใหม่นี้ได้เสร็จสิ้นลงด้วยความพอใจของแต่ละบุคคลแล้ว หลวงพ่อวัดดอน ท่านอาจารย์กำไล และท่านสามเณร จึงได้ชวนคณะแสวงบุญทั้งหมดอำลาพระพุทธบาทใหม่ และเทพยาดาตลอดผู้รักษาขุนเขาในสถานที่นั้นกลับ เมื่อทุกคนลงมาถึงเชิงเขาแล้วและท่านสามเณรได้แยกทางไปแล้ว หลวงพ่อวัดดอน ท่านอาจารย์กำไล กับคณะแสวงบุญจึงได้ออกเดินทางกลับมุ่งหน้าตรงไปยังศาลท่านเจ้าพ่อเขาตกอีกวาระหนึ่ง และได้พักผ่อนเอาแรงอยู่ชั่วครู่จึงได้ลาท่านเจ้าพ่อเขาตก ออกเดินทางกลับตามทางรถไฟเก่าของกรมดารา

ตะวันคล้อยต่ำใกล้จะสิ้นแสงความร้อนระอุได้คลายหายไป อากาศสดชื่นยามสนธยาใกล้เข้ามาแทนที่ หลวงพ่อวัดดอน ท่านอาจารย์กำไล และคณะแสวงบุญจึงได้ออกเดินทางต่อไป เดินกันไปคุยกันไปอย่างสนุกสนานและสรรเสริญคุณธรรมไปตาม ๆ กัน จนล่วงเข้าสู่ลานพระพุทธบาทใหญ่เจ้าสู่หมู่บ้านพักขุนโขลน เพื่อพักผ่อนหลับนอน คอยเวลากลับคืนสู่กรุงเทพพระมหานคร

จากการพบรอยพระพุทธบาทครั้งแรกนี้ ด้วยจิตสำนึกบางประการทำให้หลวงพ่อวัดดอน ปลงใจเชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาทขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่ พระมหาเทพ สุภโร แห่งสำนักวัดพระเชตุพน ถึงกับได้ถามหลวงพ่อวัดดอนว่า

“อะไรเป็นเหตุให้หลวงพ่อปลงใจเชื่อเช่นนั้น”

หลวงพ่อท่านตอบว่า

“เมื่อมีคนเขาบอกเล่าแล้วก็อยากเห็น เมื่อเห็นด้วยตาแล้วก็เกิดปีติอิ่มใจ เป็นสุขใจ ประกอบทั้งพิจารณาดูอย่างถี่ถ้วนแล้ว ปลงใจเชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาทแน่”

เมื่อท่านพระครูกัลยาณวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดดอนได้ปลงใจแน่แล้วว่า รอยพระพุทธบาทที่ท่านได้พบได้เห็นนั้น เป็นรอยพระพุทธบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แล้ว ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ หลังจากที่ได้ปล่อยให้เวลาผ่านพ้นไป ๒ ปี ท่านเจ้าอาวาสวัดดอนได้ส่ง พระภิกษุตุ้ม ฐานทินฺโน ไปเป็นผู้ดูแลควบคุมการถากถางป่าและเริ่มลงมือก่อสร้าง โดยสร้างบันไดขึ้นสู่ยังรอยพระบาท ซึ่งรวมทั้งหมด ๒๗๗ คั่น และได้สร้างกุฏิขึ้นที่บริเวณหน้าเขา และในปีต่อ ๆ มา โดยได้รับการร่วมมือช่วยเหลือจากท่านผู้มีจิตศรัทธาหลายท่าน

หลวงพ่อวัดดอนก็ได้สร้างศาลาการเปรียญ (ซึ่งในปัจจุบันนี้ใช้เป็นโรงเรียนวัดเขาเลี้ยว) หอสวดมนต์ กุฏิพระ ฯลฯ ซึ่งสิ้นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างไปแล้วทั้งหมดประมาณ ๒ ล้านบาทเศษ นอกเหนือไปจากนี้บรรดาพระภิกษุสามเณรที่เป็นลูกศิษย์ของท่านเจ้าอาวาสวัดดอน ก็ได้ให้ความร่วมใจร่วมมือและร่วมแรง ในการสร้างพระพุทธรูปต่าง ๆ ประดิษฐานขั้นบนยอดเขา อาทิ เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปปางประทานพร ฯลฯ เป็นต้น

แม้ว่าจะได้รับความร่วมมือร่วมใจและร่วมแรง จากบรรดาพี่น้องชาวพุทธที่มีใจศรัทธาอนุโมทนาบริจาคปัจจัยตลอดทั้งบรรดาพระภิกษุสามเณร ผู้เป็นลูกศิษย์ของท่านก็ตาม บรรดาสิ่งก่อสร้างทั้งหลายก็ยังหาที่จะบรรลุผลสำเร็จเรียบร้อยลงไม่ เพราะยังขาดจตุปัจจัยที่จะดำเนินการก่อสร้างต่อไป ฉะนั้นเพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งปูชนียสถานอันควรแก่การสักการะแห่งนี้ ให้ดำรงอยู่ในบวรพุทธศาสนาสืบต่อไป ขอเชิญชวนบรรดาชาวพุทธทั้งหลายผู้มีจิตศรัทธา ได้บริจาคจตุปัจจัยตามสมควรแก่วิสัยสามารถ สมทบทุนสร้างปูชนียสถานแห่งนี้ให้บรรลุผลสำเร็จลุล่วง เพื่อเป็นอนุสรณ์ศาสนบูชาแด่อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไปเทอญ ฯ

 

 

 

 

เรื่องของ “เจดีย์”

 

ก่อนที่จะได้ตระเวนย่ำไปบนเขาเลี้ยว เพื่อชมโขดเขาลำเนาไพรในถ้ำต่าง ๆ อันงามวิจิตรตระการตาตามธรรมชาติ แลดูดุจเสมือนหนึ่งมีผู้เสกสรรค์ปั้นแต่งสร้างขึ้นนั้น ผู้เขียนก็ใคร่จะขอนำเอาคำอธิบายของพระมหาเทพ สุภโร แห่งสำนักวัดพระเชตุพน มาให้ท่าผู้อ่านทั้งหลายได้ทราบอะไรบ้าง พอเป็นสังเขปเพื่อประดับสติปัญญา ความรู้ของท่านสักเล็กน้อย

เราพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ย่อมเป็นที่ทราบกันดีอยู่โดยทั่วไปแล้วว่า พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ได้ทรงสร้างความดีเป็นที่ตรึงใจเอนกประการ ปวงชนมิอาจลืมพระคุณนั้นได้และต่างก็ได้เคารพสักการะ นับถือบูชาพระองค์ด้วยใจอันซาบซึ้งในพระคุณของพระองค์อย่างจริง ๆ ครั้นเมื่อพระองค์นิพพานแล้วก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่สำหรับสักการะแก่ปวงชนรุ่นหลัง ต่อมาจึงได้คิดสร้างสิ่งแทนพระองค์ขึ้นไว้สำหรับเป็นเครื่องเตือนใจ ระลึกถึงคุณความดีของพระองค์และเป็นที่สักการะ เรียกว่า “เจดีย์”

ครั้งแรกพระราชาในเมืองต่าง ๆ ถึงกับพากันแย่งพระธาตุของพระพุทธเจ้า ต่างก็นำพระธาตุนั้นไปบรรจุในเจดีย์ เรียกว่า “ธาตุเจดีย์”

พวกที่ไม่ได้พระธาตุก็เอาพระอังคาร (ขี้เถ้า) และบริขารเครื่องใช้ของพระองค์ไปบรรจุในเจดีย์ เรียกว่า “ปริโภคเจดีย์”

พวกที่อยู่ไกลออกไปไม่ได้อะไร และชนในชั้นหลังก็เอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์บรรจุในเจดีย์ เรียกว่า “ธรรมเจดีย์”

บางพวกก็สร้างพุทธปฏิมาและพระบาท เรียกว่า “อุทเทสิกเจดีย์”

ในบรรดาเครื่องเตือนใจเหล่านั้นพระบาทก็เป็นเครื่องเตือนใจอันสำคัญอย่างหนึ่ง พระบาทนั้นมีมาแต่สมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ จัดเป็นเจดีย์หนึ่งเรียกว่า “ปทเจดีย์” แปลว่า เจดีย์ หรือ รอยเท้า

รอยเท้าที่พระพุทธองค์ทรงอธิฐานแล้วเหยียบไว้ที่ใดที่หนึ่ง (พระโบราณาจารย์ว่ามี ๕ แห่ง มีสุวรรณบรรพต เป็นต้น) เพื่อแสดงให้เป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็น เช่น แสดงแก่พราหมณ์สองผัวเมีย ท่านกล่าวว่า พระบาทอย่างนี้ย่อมปรากฏอยู่ในที่นั้น ทรงอธิษฐานเพื่อผู้ใดผู้นั้นจึงเห็น และสัตว์จะย่ำเหยียบฝนจะตกหนักเกิดลมพายุอย่างแรง รอยเท้าก็จะปรากฏอยู่อย่างนั้นไม่ลบเลือน ปทเจดีย์ทรงอธิษฐานไว้อย่างนี้ เรียกว่า “ปริโภคเจดีย์”

ครั้นต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงมานานนับด้วยพันปี สิ่งสักการะต่าง ๆ หายาก ที่มีอยู่ก็ถูกทำลายโดยฝ่ายปฎิปักษ์ พุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสในชั้นหลัง ก็ได้แก้ไขอนุโลมทำพระบาทขึ้นใหม่ เพื่อสักการะบูชาโดยอาศัยตำนานมหาปุริสลักษณะ จำหลักศิลาบ้าง ไม้บ้าง หล่อด้วยโลหะบ้าง ขนาดเล็กใหญ่ตามความต้องการ ตามกำลังศรัทธาและทุนทรัพย์ และทำให้มีลวดลายวิจิตรพิศดารตามตำนานเรียกว่า “อุทเทสิกเจดีย์”

ถ้าพูดกันถึงแง่ธรรมดาตามความนึกคิดของสามัญชนโดยทั่วไป เท้าจัดว่าเป็นของต่ำและหยาบคาย แต่ไฉนเราจึงมากราบไหว้กันเล่า ? ทั้งนี้ก็เพราะเราบูชาพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่พระองค์ยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อชาวโลก เราจึงเรียกเท้าของผู้ทรงพระคุณเช่นนี้ว่า “อัศจรรย์” ได้เต็มปาก

การกราบไหว้เท้านั้นถือกันว่าเป็นเครื่องหมายแสดงความเคารพอย่างสูง แม้ภาษาปัจจุบันเราก็ใช้พูดกันเสมอระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่ตนเคารพนับถือ เช่นการกราบเท้าคุณแม่ กราบเท้าคุณพ่อ ใต้เท้า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

ในพม่ามีประเพณีอย่างหนึ่ง คือ ผู้หญิงสยายผมลงกับพื้น แล้วให้ท่านที่เคารพนับถือเดินบนเส้นผมนั้น

ในประเทศไทยบางแห่งเวลาพระชักผ้าบังสุกุล คณะเจ้าภาพนอนคว่ำลงกับพื้นแล้วให้พระเอาเท้าเหยียบบนหัวยืนชักผ้าบังสุกุล

ประเพณีเหล่านี้เป็นของแปลกประหลาดสำหรับคนต่างถิ่น แต่เจ้าของถิ่นถือว่าเป็นการแสดงความเคารพนับถืออย่างสูง ควรรักษาไว้และยังเป็นบุญอีกด้วย

เท้าของพระพุทธเจ้านั้นนับว่าเป็นอัศจรรย์เป็นของสูง และประณีตไม่มีใครเหมือน ท่านพรรณนาไว้ ๖ ประการ

๑.ฝ่าเท้าทั้งสองเสมอกัน เวลาเหยียบลงหรือยกขึ้นเสมอกัน

๒.มีจักรกลางฝ่าเท้า ประกอบด้วยรูปมงคล ๓๐๘ ประการ

๓.สันเท้ายาวกว่าสามัญชนและมีสีแดง

๔.นิ้วยาวเรียวเป็นลำดับ

๕.ฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม

๖.มีตาข่ายดั่งคนถักไว้เต็มฝ่าพระบาท ลักษณะอย่างนี้ถือว่าเป็นลักษณะของมหาบุรุษ คือ พระพุทธเจ้า ๑ พระเจ้าจักรพรรดิ ๑

การไหว้เท้านั้นไม่ใช่มีแต่เด็กไหว้ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ไหว้เด็กก็มีไม่ใช่เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดสำหรับผู้รู้ และไม่ใช่สิ่งที่พึ่งเกิดขึ้นเดี่ยวนี้ มีมาแต่พระพุทธเจ้ายังเป็นพระราชกุมาร

เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติใหม่ ๆ พอกาฬเทวิลดาบส (อสิตดาบส) ทราบข่าวจึงมาเยี่ยม พระเจ้าสุทโธทนะจึงอุ้มพระกุมารเพื่อกราบไหว้ท่าน จะได้เป็นสวัสดิมงคล พอพระดาบสเห็นพระกุมารเท่านั้น ก็กราบไหว้ที่พระบาทของพระกุมารด้วยศีรษะของตนเอง พระเจ้าสุทโธทนะจึงตรัสถามเหตุนั้น ท่านฤาษีบอกว่าพระราชกุมารมีลักษณะเป็นพระมหาบุรุษ และได้ทำนายไว้เมื่อเป็นเช่นนี้นับประสาอะไรกับพุทธบริษัทจะไหว้พระองค์ไม่ได้ แม้ดาบสเป็นที่เคารพของพ่อกลับไปไหว้ลูก เพียงเห็นลักษณะว่าจะเป็นผู้ทรงพระคุณอันยิ่งใหญ่ก็เคารพอย่างสนิทใจ

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ก็เสด็จไปโปรดสัตว์ทุกถ้วนหน้า มีเรื่องแปลก ๆ เกิดขึ้นกับพระองค์เสมอสำหรับผู้รู้ตำราทายลักษณะไม่เห็นพระองค์ เห็นแต่รอยเท้าก็รู้ได้อย่างแจ่มแจ้ง มีเรื่องว่า

ในเมืองโกสัมพีมีพราหมณ์สองผัวเมีย ชื่อมาคันทิยามีลูกสาวคนหนึ่งสวยดังนางฟ้า หาผู้ชายที่เหมาะสมไม่ได้ วันหนึ่งพราหมณ์สามีออกไปนอกบ้าน พอดีไปพบพระพุทธเจ้าเห็นลักษณะสวยงามเหมาะกับลูกสาวของตน จึงได้กล่าวขึ้นว่า

“ท่านสมณะจงค่อยอยู่ที่นี่ประเดี๋ยว ข้าพเจ้าจะพาลูกสาวมาให้ท่าน ท่านกับลูกสาวของข้าพเจ้าเหมาะสมกันนัก”

เพื่อจะแสดงให้พราหมณ์นั้นรู้ว่าพระองค์มิใช่สามัญชน จึงทรงอธิษฐานรอยพระบาทนั้นไว้ ณ ที่นั้นแล้วหลีกจากที่นั้นไปไม่ไกลนัก

ฝ่ายพราหมณ์รีบไปบอกภรรยาพาลูกสาวมา ครั้นมาถึงก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้า เห็นแต่รอยพระบาท ภรรยานั้นก็เป็นผู้รู้ตำราทายลักษณะ จึงบอกแก่สามีว่า “รอยเท้านี้มิใช่สามัญชน” โดยแบ่งเป็นประเภทว่า

  1. รตฺตสฺส หิ อุกฺกุฏิก ปหํ ภเว

คนมีราคะ รอยเท้ากระโหย่ง คือ เว้ากลาง

  1. ทุฏฺสฺส โหติ อนุกฑฺฒิตํ ปหํ

คนมีโทษะ รอยเท้าหนักส้น

  1. มุฬฺหสฺส โหตุ สหสานุปีฬิตํ

คนมีโมหะรอยเท้าปลายจิกกลางลง

  1. วีวฏจฺฉทสฺส อิทมีทิสํ ปหํ

รอยเท้าอย่างนี้ เป็นคนไม่มีกิเลส

ต่อมาก็ได้พบพระพุทธเจ้า พระองค์เทศนาโปรดได้บรรลุโสดาปัตติผลทั้งสองผัวเมีย นอกจากจะดูดวงชะตาลายเมือ ฯลฯ แล้วจะดูเท้าบ้างก็ได้ แต่ออกจะอุตตริสักหน่อยสำหรับปัจจุบัน

พระพุทธเจ้านั้น มีน้ำพระทัยเสมอแก่คนทุกจำพวกแม้กระทั่งคนปองร้าย เช่น พระเทวทัต และคนที่โปรดมากก็คือ พระราหุล ผู้เป็นราชโอรสของพระองค์ พระองค์มิได้ลำเอียงเห็นแก่หน้าใคร ๆ เลย ทรงทำลายวรรณะต่าง ๆ ให้คลายทิฐิมานะ และพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ มุ่งให้คนพ้นทุกข์จริง ๆ ด้วยเหตุนี้เองชนทุกชั้นจึงเคารพในพระคุณของพระองค์อย่างสนิทใจไม่มีอะไรเป็นที่รังเกียจ ซึ่งจะเป็นจากเรื่องต่อไปนี้

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ เมทพุปนิคม แคว้นสักกชนบท พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเพื่อกรณียกิจทางนั้น เลยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ครั้นถึงแล้วก็ก้มพระเศียรเกล้าลงแทบพระบาททั้งคู่ แล้วทรงจุมพิตด้วยพระโอษฐ์นวดเฟ้นด้วยพระหัตถ์

พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามว่า “มหาบพิตร เห็นประโยชน์อะไร จึงมาเคารพยำเกรงในสรีระเปื่อยเน่าโดยปราศจากความรังเกียจเล่า ?

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ด้วยเห็นพระคุณที่มีในพระผู้มีพระภาคเจ้าหลายประการจึงแน่ใจว่า สมฺมา สมฺพุทฺโธ ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบจริง สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธรรมอันพระองค์กล่าวดีชอบด้วยเหตุแล้ว สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์ของพระองค์ปฏิบัติชอบแล้ว อาศัยเหตุนี้จึงเคารพพระองค์อย่างซาบซึ้ง”

ท่านลองหลับตาวาดภาพดูจะเห็นว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งมีอายุเท่ากับพระพุทธเจ้า และเป็นทั้งกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ยอมรับว่า พระพุทธเจ้าดีหมด ดีสำหรับชนทั้งปวง ยอมยกให้ทุกอย่าง ถ้าเราจะมองตามเหตุนี้ ไม่มีปัญหาอะไรในการเคารพสักการะของเราเลย

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงนิพพาน ยังได้ทรงมอบอมตสมบัติ คือ พระธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ไว้ ณ เบื้องหลัง พระสงฆ์สาวกก็ดำเนินการเผยแพร่สืบมา การเผยแพร่ศาสนาไปถึงไหน ปูชนียวัตถุสำคัญ ๆ ก็ย่อมปรากฏที่นั้น เฉพาะพระบาทนี้ เป็นปูชนียวัตถุเผยแพร่ใน พ.ศ. ๑๖๙๘ สมัยพระเจ้าปรักกรมพาหุเป็นศาสนูปถัมภก ทำสังคายนาครั้งที่ ๗ ในลังกาทวีป ในสมัยนั้นพระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก มีพระไทย มอญ พม่า เขมร ไปศึกษากัน ณ ที่นั้น

การที่พระบาทเผยแพร่มาทางไทยนั้น ในสมัยสุโขทัย ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ เพราะพระไทยไปศึกษาในลังกากลับมา ชาวลังกานั้นนิยมการนมัสการพระพุทธบาท และมีภิกษุนักศึกษานี้เอง เป็นผู้นำเรื่องพระบาทมา

ปรากฏว่า ในสมัยสุโขทัย นิยมสร้างอุทเทสิกเจดีย์กันมาก เช่น สร้างพุทธรูป และสร้างพระบาทตามแบบลังกาโดยหล่อบ้าง จำหลักศิลาบ้าง

การค้นคว้าพระบาทแท้ไม่แท้ เกิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมครองกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากชาวลังกาบอกกับภิกษุไทยที่ไปศึกษาในเมืองลังกาว่า พระบาทที่เขาสัจจคีรีพันธ์นั้นอยู่ในเมือง ครั้งภิกษุนั้นกลับมาแล้ว ก็เอาความนี้ไปทูลพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินก็รับสั่งให้ค้นหากัน แล้วปลงใจว่า “พระพุทธบาทสระบุรี” เป็นรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า ยังความสงสัยแก่คนทั่วไปว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาเมืองไทยด้วยหรือ ?

แต่พระบาทแท้ไม่แท้นั้น ไม่เป็นปัญหาสำหรับนักแสวงบุญ ผู้เคารพนับถือพระองค์อย่างซึ้งใจ พระบาทแท้เรียกว่า “บริโภคเจดีย์” ก็ดี พระบาทใหม่หรือบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ เรียกว่า “อุทเทสิกเจดีย์” ซึ่งได้กล่าวมาแล้วก็ดี เมื่อมุ่งจุดสุดยอดแล้ว ก็เพื่อแทนองค์พระพุทธเจ้าเช่นเดียวกับพระพุทธรูป ซึ่งเป็นอุทเทสิกเจดีย์เหมือนกัน

การบูชากราบไหว้พระบาทก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า เรียกว่า “พุทธานุสสติ” เป็นอารมณ์ของกัมปฏิฐานอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดความสังเวชสลดในสังขาร ตรึกนึกถึงความดีของพระองค์ที่มีแก่เราทุกถ้วนหน้าเป็นคุณข้อพิเศษ เป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใสน้อมใจนึกถึงคำสั่งสอน อันเป็นข้อประพฤติแล้วนำมายึดเป็นข้อปฏิบัติ เป็นต้นว่า ประพฤติตนอยู่ในสุจริตธรรม ละชั่วทางกาย วาจา ใจ อันเป็นทุจริตทั้งสิ้น รักษาศีลให้ทานเจริญภาวนา อันเป็นทางนำไปสู่ความดี สั่งสมบารมีให้ยิ่งขึ้น เป็นปัจจัยให้บรรลุที่สุดแห่งความปรารถนา

อนึ่ง การบูชากราบไหว้พระบาทนั้น จัดเป็นมงคลคือเหตุนำความเจริญมาให้ เพราะพระบาทนั้นท่านถือว่าเป็นลาภอันเป็นมงคล ๑๐๘ ประการ มีอานุภาพป้องกันภัยพิบัตินานาประการ

พระบาทเขาเลี้ยวแห่งนี้นับได้ว่า เป็นปูชนียสถาน สังเวชนียสถาน และมงคลสถาน ที่ควรแก่การบูชากราบไหว้ และควรรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ และศาสนา ทุกท่านควรจะมีส่วนช่วยทำนุบำรุง

 

มาคันทิยาแห่งเขาเลี้ยว

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ใคร่จะขอนำมากล่าวไว้ เพื่อเป็นการประดับความรู้ของท่านผู้ที่สนใจในเรื่องนี้ ก็คือ โดยตามความจริงแล้ว เมื่อได้เห็นรอยพระพุทธบาทใหม่ กอรปทั้งห่างจากเขาเลี้ยวไปไม่ไกลเท่าใดนัก มีหมู่บ้านอยู่หมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านในละแวกนั้นเรียกกันว่า “หมู่บ้านหนองคณฑี” ซึ่งเมื่อหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดดอน ได้มาเห็นทิวทัศน์ภูมิธรรมชาติแห่งหมู่บ้านนี้แล้ว ทำให้ท่านหวนนึกไปถึงเรื่อง “พระนางสามาวดี ตอนประวัตินางมาคันทิยา” ในพระธัมมปทัฏฐกถาแปล ซึ่งอาจจะนำไปเปรียบเทียบกันได้เป็นอย่างดี

อันหมู่บ้านหนอง “คณฑี” นี้ ถ้าจะคิดไปก็เสมือนหนึ่งหมู่บ้าน “มาคันทิยา” ในแคว้นกุรุแห่งภารตประเทศในสมัยอดีตกาลอันนับด้วยพันปีล่วงมาแล้ว ซึ่งเป็นที่พำนักของพารหมณ์สองผัวเมีย ผู้ให้กำเนิดธิดาสาวรูปงามประดุจดังนางเทพอัปสรในชั้นฟ้ามาจุติ ณ ดินแดนแห่งมวลมนุษย์ อันนามเธอนั้น “มาคันทิยา”

ย่อมเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง ที่ดอกไม้สวยและมีกลิ่นหอม ย่อมเป็นที่หมายปองแห่งหมู่ภมรทั้งหลาย ที่จะลองชิมรสหวานแห่งเกสรฉันใด นางมาคันทิยาก็ฉันนั้น

บรรดาชายไม่ว่าหนุ่มหรือแก่ นับแต่กษัตริย์ พราหมณ์ มหาเศรษฐี ลงมาจนถึงฐานะปานกลาง ต่างก็พยายามที่จะสู่ขอนางมาคันทิยามาเป็นศรีภรรยาแห่งตน แต่ทุกรายก็ได้รับการปฏิเสธจากพราหมณ์ผู้เป็นบิดาว่า “พวกท่านไม่คู่ควรแก่ธิดาของฉัน”

ครั้นอยู่ต่อมาวันหนึ่ง หลังจากที่พระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่ง และทรงเห็นอุปนิสัยแห่งอนาคามิผลของมาคันทิยาพราหมณ์แล้ว ก็ทรงถือบาตรจีวรเสด็จไปสู่ยัง ณ บ้านของพราหมณ์ผู้นั้นทันที ส่วนพราหมณ์ผู้บิดาของนางมาคันทิยา เมื่อเห็นความงามอันเลิศแห่งพระตถาคตแล้ว ก็คิดว่า

“ชื่อว่าบุรุษผู้อื่นเช่นกับบุรุษนี้ ย่อมไม่มีในโลกนี้

บุรุษนี้เป็นผู้คู่ควรแก่ธิดาของเรา เราจักให้ธิดาของ

เราแก่บุรุษนี้ เพื่อประโยชน์จะได้เลี้ยงกัน”

เมื่อพราหมณ์คิดดังนั้นแล้วจึงพูดขึ้นว่า

“ท่านสมณะ ธิดาของข้าพเจ้ามีอยู่คนหนึ่ง ข้าพเจ้า

ยังมิได้เห็นชายผู้คู่ควรแก่นางตลอดกาลมีประมาณ

เท่านี้ ท่านเป็นผู้คู่ควรแก่นาง และนางก็เป็นผู้คู่ควร

แก่ท่านแท้ ควรท่านได้นางไว้เป็นบาทบริจาริกา

และนางก็ควรได้ท่านไว้เป็นภัสดา เราจักให้นาง

แก่ท่าน ท่านจงยืนอยู่ ณ ที่นี้แล จนกว่าข้าพเจ้าจะกลับมา”

เพื่อไม่ให้เป็นการเปลืองเวลาของท่านผู้อ่านทั้งหลาย ในการที่อยากจะทราบว่า บนเขาเลี้ยวนี้มีอะไรที่น่านมัสการ น่าชมบ้าง ก็จะขอรวบรัดตัดความแห่งเรื่องนี้ให้สั้นเข้า หลังจากที่พราหมณ์กลับไปบอกให้ภรรยาทราบ และพานางมาคันทิยาลูกสาวของตนมายังที่ที่ตนบอกให้พระพุทธองค์ยืนคอยอยู่ที่นั่นแล้ว ก็หาปรากฏร่างของพระพุทธองค์ไม่ นอกจากรอยพระบาทของพระพุทธองค์เท่านั้น

แท้จริงเจดีย์คือรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า ย่อมปรากฏในที่ที่พระองค์ทรงอธิษฐานแล้วเหยียบไว้เท่านั้น ย่อมไม่ปรากฏในที่อื่น อนึ่ง เจดีย์คือรอยพระบาท เป็นสิ่งที่ทรงอธิษฐานไว้เพื่อประสงค์แก่บุคคลเหล่าใด บุคคลเหล่านั้นจำพวกเดียว ย่อมแลเห็นรอยพระบาทนั้น และไม่มีอะไรที่จะสามารถลบรอยพระบาทนั้นได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ที่ที่ปรากฏรอยพระพุทธบาทบนเขาเลี้ยวนั้น ถ้าจะคิดดูให้ซึ้งก็เปรียบดั่งหนึ่งเป็นที่ที่พระพุทธองค์ได้ทรงอธิษฐานแล้วเหยียบรอยพระบาทไว้ เพื่อให้พราหมณ์สองผัวเมียได้แลเห็น ซึ่งเมื่อนางพราหมณ์ได้ตรวจตราดูลักษณะแห่งรอยพระบาทแล้ว ก็ได้ทำนายไว้ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จะไม่นำมากล่าว ณ ที่นี้อีก

นอกจากที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะกล่าวถึง นั่นคือ “บ่อโศก” ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากรอยพระพุทธบาทเขาเลี้ยวเท่าไรนัก เมื่อได้เห็นบ่อโศกแล้ว จิตก็ระลึกไปเสมือนหนึ่งว่า ณ ที่บ่อโศกนี้ อาจจะเป็นที่ที่นางมาคันทิยามานั่งร้องไห้ก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากหลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงอธิษฐานและประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่นั้น แล้วพระองค์ก็ทรงพระพุทธดำเนินไปยืนประทับอยู่ที่อื่น พราหมณ์สองผัวเมียเมื่อพาธิดามาหมายจะถวายแก่พระบรมศาสดา เมื่อไม่เห็นพระองค์ประทับอยู่ที่เก่าก็เที่ยวเดินตามหา และในที่สุดก็พบพระพุทธองค์ พราหมณ์ผู้นั้นก็พยายามที่จะยกนางมาคันทิยาให้แก่พระองค์ แต่พระองค์หาทรงมีพระพุทธประสงค์ที่จะรับไม่

ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์กลับตรัสเล่าให้พราหมณ์สองผัวเมียและธิดาสาวฟัง ตั้งแต่พระองค์ออกผนวช พระองค์ถูกมารธิดาติดตามรบกวนมาเพียงไร และในที่สุดพระองค์ก็ตรัสขึ้นว่า

“เรามิได้มีแม้ความพอใจในเมถุน เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา

ไฉนเล่า จักมีความพอใจเพราะเห็นธิดาของท่านนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยมูตรและกรีส

เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องธิดาของท่านนี้ แม้ด้วยเท้า”

นางมาคันทิยา ธิดาสาวสวยแห่งพราหมณ์สองผัวเมีย เมื่อนางได้ฟังพระพุทธองค์ตรัสเช่นนั้น นางก็รู้สึกเศร้าโศกเสียใจ น้ำตาของนางก็ร่วงรินหยดลงสู่พื้นธรณีที่นั้น

อันบ่อโศกแห่งเขาเลี้ยวนี้เล่า ก็จักเปรียบได้เสมือนหนึ่งที่ซึ่งน้ำตาของนางมาคันทิยา ธิดาพราหมณ์ผู้เลอโฉมได้ร่วงหยดลงสู่พื้นธรณี

อาจเล่าได้ว่า ตำบลหมู่บ้านหนองคณฑี รอยพระพุทธบาทที่ปรากฏบนเขาเลี้ยวและบ่อโศกเหล่านี้ ล้านเป็นสถานที่ที่เตือนใจ ก่อให้เกิดความระลึกนึกย้อนหลังไปสู่อดีตกาลอันล่วงพ้นมาแล้วนับพัน ๆ ปีได้เป็นอย่างดี ดั่งที่ได้กล่าวเปรียบเทียบมาข้างต้นทุกประการ

ทั้งหมดนี้ เป็นคำพรรณนาของพระภิกษุรัตน์ จนฺทสาโร ซึ่งได้พรรณนาถึงความเป็นมาของพระพุทธบาทเขาเลี้ยวได้อย่างประทับใจ ทรงไว้ซึ่งอรรถรสแห่งวรรณคดี

 

 

 

บั้นปลายแห่งชีวิต

 

และบั้นปลายแห่งชีวิต พระครูกัลยาณวิสุทธิ์เจ้าอาวาสวัดดอน ซึ่งอยู่ในวัยชราได้ถูกโรคาพยาธิเบียดเบียนสังขารร่างกายหลายโรค สุขภาพไม่ค่อยจะดีตลอดมา ปลายปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ ท่านป่วยเป็นโรคประสาททางตาเสื่อม ถึงกับมองอะไรไม่เห็น จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ โดยการผ่าตัดแต่ก็ไม่หาย และยังมีโรคอื่นเข้ามาแทรกแซงอีก คือโรคหอบ โรคหัวใจโต และโรคความดันโลหิตสูง บรรดาศิษยานุศิษย์ พาท่านมารักษาพยาบาลเรื่อยมา อาการก็หาดีขึ้นไม่ ด้วยตัวท่านตั้งอยู่ในวัยชราแล้ว

จนถึงวันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๐๗ อาการแห่งโรคกลับกำเริบขึ้นอย่างหนัก เป็นเหตุให้ท่านพูดอะไรไม่ได้เลย ครั้นเวลา ๐๒. ๒๐ น. หลวงพ่อพระครูกัลยาณวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดดอนซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ และเกจิอาจารย์ชื่อดัง ก็ต้องถึงแก่มรณภาพล่วงลับไป ตามชราภาพของสังขารประมาณอายุได้ ๗๓ ปี พรรษาได้ ๔๔ พรรษา ต่อมาได้จัดให้งานพิธีพระราชทานเพลิงศพของท่าน ณ เมรุกลางลานวัดดอน เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘ โดยจัดเป็นงานใหญ่ใช้เวลานานถึง ๓ คืน ๓ วัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วัดดอน สมัยพระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)

 

ครั้นการพระราชทานเพลิงศพ พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดดอน และเจ้าคณะตำบลวัดพระยาไกร ผ่านพ้นไปแล้ว พระมหาวิลาศ ญาณวโร ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนสืบต่อมา เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๙

เจ้าอาวาสวัดดอนองค์นี้มิใช่ชาวทวายเหมือนกับเจ้าอาวาสวัดดอนรูปก่อน ๆ แต่เป็นชาวไทย ชาติภูมิเดิมอยู่จังหวัดกาญจนบุรี มีประวัติที่ควรจะเล่าไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบดังนี้

นามเดิม วิลาศ นามสกุล ทองคำ บิดานามว่า นายบัว ทองคำ มารดานามว่า นางยม ทองคำ เกิดเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.. ๒๔๗๓ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๗ ณ บ้านอุโลกสี่หมื่น ตำบลอุโลกสี่หมื่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

 

บรรพชา

 

วันที่ ๑๖ มิถุยายน พ..๒๔๘๖ ตรงกับวันพุธ ขั้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะแม โดยมี พระครูวรรัตตวิบูล วัดแสนตอ เจ้าคณะอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

 

อุปสมบท

 

วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.. ๒๔๙๓ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๑๐ ค่ำ ปีขาล โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นามเดิมว่า ฟื้น ชุตินฺธโร เปรียญธรรม ๙ ประโยค วัดสามพระยา ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพเวที เจ้าคณะจังหวัดพระนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุทธิวรคุณ นามเดิมว่า แส เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ นามเดิมว่ากึ๋น วิสุทฺโธ เจ้าอาวาสวัดดอนเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ประชุมสงฆ์ ๒๕ รูป ทำอุปสมบทกรรม ณ พัทธสีมาวัดดอน

ได้รับฉายาว่า ญาณวโร เสร็จญัตติจตุถกรรมเวลา ๑๓.๑๐ น.

 

การศึกษา

 

ตอนปฐมวัย ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนอาจวิทยาคาร บ้านอุโลกสี่หมื่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี สำเร็จชั้นประถมบริบูรณ์

ครั้นบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว พระวินัยธรรมเร่ง ชินปุตฺโต เจ้าอาวาสวัดพระแทนดงรัง อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพระอาจารย์ มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะให้ศึกษาธรรมและบาลี เพื่อที่จะให้ได้เป็นมหาเปรียญกับเขาบ้าง

เพราะลูกพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี ยังไม่เคยมีใครได้มหาเปรียญเลยสักคน จึงดั้นด้นนำตัวมาฝากไว้กับ พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดดอน เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ โดยมี พระอาจารย์สมบุญ เป็นผู้ปกครองดูแล ศึกษาบาลีธรรม ณ สำนักเรียนวัดยานนาวา

ก็บังเอิญสมเจตนาของท่านอาจารย์เร่งวัดพระแท่นดงรัง กล่าวคือ สามเณรวิลาผู้เป็นศิษย์ สามารถสอบได้เปรียญตั้งแต่เป็นสามเณร ครั้นอายุครบอุปสมบท คุณนายทองดี ทวีสิน มีศรัทธารับภาระเป็นโยมปวารณาให้ความอุปถัมภ์ในการอุปสมบทตามธรรมเนียมประเพณี แล้วศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นบาลีสืบต่อไป จนสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งเป็นเปรียญธรรมขั้นสูงสุด แห่งสถาบันการศึกษาคณะสงฆ์ไทย โดยมีลำดับปีการศึกษาที่สอบได้ในสนามหลวง ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี ดังต่อไปนี้

 

 

แผนกธรรม

 

พุทธศักราช ๒๔๘๖ สอบได้ นักธรรมชั้นตรี

พุทธศักราช ๒๔๘๗ สอบได้ นักธรรมชั้นโท

พุทธศักราช ๒๕๘๙ สอบได้ นักธรรมชั้นเอก

 

 

แผนกบาลี

 

พุทธศักราช ๒๔๙๑ สอบได้ประโยค ป..

พุทธศักราช ๒๔๙๒ สอบได้ประโยค ป..

พุทธศักราช ๒๔๙๔ สอบได้ประโยค ป..

พุทธศักราช ๒๔๙๕ สอบได้ประโยค ป..

พุทธศักราช ๒๔๙๖ สอบได้ประโยค ป..

พุทธศักราช ๒๔๙๗ สอบได้ประโยค ป..

พุทธศักราช ๒๕๐๓ สอบได้ประโยค ป..

 

การศึกษาพิเศษ

 

พุทธศักราช ๒๕๑๗ สำเร็จการศึกษาโรงเรียนพระสังฆาธิการส่วนกลางกรุงเทพมหานคร

พุทธศักราช ๒๕๓๒ ได้รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

วิปัสสนาธุระ

 

หลังจากที่ได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรและพัดยศเปรียญธรรม ๙ ประโยค ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชาปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ แล้ว พระมหาวิลาศ ญาณวโร ก็เดินทางไปจำพรรษาที่จังหวัดภูเก็ตหนึ่งพรรษา เพื่อบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน โดยมี พระอาจารย์เข่ง อตฺตรกฺโข แห่งสำนักวิปัสสนาท่าเรือ ภูเก็ต เป็นวิปัสสนาจารย์ บำเพ็ญอยู่นานตลอดไตรมาส ถูกโรคอาพาธเบียดเบียนให้มีอาการอ่อนเพลียนัก จึงเดินทางกลับมารักษาตัวที่วัดเดิม

ครั้นมีเรี่ยวแรงดีแล้ว ปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ จึงเดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่สำนักวิปัสสนากรรมฐานวิเวกอาศรม จังหวัดชลบุรี เพื่อบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานอีกครั้ง ด้วยว่าเมื่อบำเพ็ญครั้งแรกนั้น ผลแห่งการบำเพ็ญยังไม่เป็นที่พอใจ พูดง่าย ๆ ก็ว่ายังงงอยู่ ยังไม่รู้เรื่องการบำเพ็ญวิปัสสนาดีพอ การบำเพ็ญครั้งนี้มีท่านอาจารย์อาสภเถระ เป็นผู้บอกกรรมฐาน ท่านอาสภเถระผู้นี้เป็นพระภิกษุชาวพม่า มีความรู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านปริยัติทั้งในด้านปฏิบัติ กล่าวคือ ในด้านปริยัติมีความรู้ถึงขั้นธัมมาจริยะ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงสุดแห่งคณะสงฆ์พม่า ดังนั้น ท่านจึงมีนามเต็มว่า พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ

ในด้านปฏิบัติปรากฏว่าเคยบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานมานาน จนกระทั่งได้เป็นวิปัสสนาจารย์บอกกรรมฐาน ณ สำนักวัดสาสนยิตสา ประเทศพม่า มีศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์มากมาย

ต่อมาได้เดินทางมาประเทศไทยตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ในสมัยนั้น เพื่อสั่งสอนวิปัสสนาธุระแก่พุทธบริษัทชาวไทย ณ วัดมหาธาตุ จนได้รับการขนานนามว่า ท่านอาจารย์ใหญ่ แล้วได้ไปจำพรรษาอยู่ที่สำนักวิปัสสนากรรมฐานวิเวกอาศรม ชลบุรี ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่พระมหาวิลาศไปขอปฏิบัติกรรมฐานด้วยนั่นเอง

ถูกท่านอาจารย์เขี่ยวเข็ญให้บำเพ็ญวิปัสสนาธุระอันแสนจะยากเย็น อยู่เป็นเวลานานตลอดไตรมาส เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแสนสาหัส แต่ก็ได้รับผลยิ่งใหญ่ประมาณค่ามิได้ ออกจากกรรมฐานแล้วตั้งใจจะพักผ่อนให้สบาย กลับถูกท่านอาจารย์บังคับให้เรียนวิชาวิปัสสนาจารย์ต่ออีก จึงต้องเรียนด้วยซาบซึ้งในความกรุณาและความหวังดีของท่าน จบแล้วจึงเดินทางกลับมาสำนักอยู่วัดดอนตามเดิม

 

งานด้านการเผยแผ่

 

ตั้งแต่ออกจากการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานเป็นต้นมา พระมหาวิลาศ ญาณวโรได้มีจิตเป็นกุศลรจนาหนังสือธรรมะทางพระพุทธศาสนา เท่าที่เวลาจักอำนวยให้ โดยมุ่งหวังจะให้เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป ทั้งในปัจจุบันและอนาคต หนังสือธรรมะที่รจนามีรายชื่อตามลำดับต่อไปนี้

. วิชาวิปัสสนาจารย์ หนังสือเล่มนี้เป็นหลักวิชา ว่าด้วยเรื่องการสอนกรรมฐานตามลำดับวิปัสสนาญาณต่าง ๆ ตั้งแต่วิปัสสนาญาณชั้นต้นจนถึงชั้นสูงสุด (หนังสือเล่มนี้ยังไม่ได้พิมพ์)

. โลกทีปนี หนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องนรกสวรรค์ จนกระทั่งถึงเรื่องพระนิพพาน เหตุบันดาลจิตให้คิดรจนาโลกทีปนีคือ แต่ก่อนนี้แม้จะได้เรียนธรรมะทางพระพุทธศาสนามานาน แต่ก็ยังไม่มีความเชื่อมั่นและความเข้าใจ ในคำสอนอันลึกซึ้งถึงเรื่องนิพพาน นรกสวรรค์ ครั้นออกจากกรรมฐานแล้ว ค่อยมีใจผ่องแผ้วกอรปด้วยความเชื่อมั่นในพระพุทธวจนะ จึงรจนาโลกทีปนีนี้ไว้ เพื่อบูชาคุณพระพุทธศาสนา

. มุนีนาถทีปนี หนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องความยากเย็นแสนเข็ญ ในการสร้างบารมีเพื่อที่จะได้ตรัสรู้พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ เหตุบันดาลจิตที่ได้คิดรจนามุนีนาถทีปนีก็คือ เมื่อออกจากกรรมฐานแล้ว รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงรจนาหนังสือนี้ เพื่อบูชาคุณแห่งพระพุทธองค์

. วิปัสสนาทีปนี หนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องวิปัสสนา และลักษณาการแห่งวิปัสสนาญาณต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้นต้นจึงถึงขั้นสูงสุด ซึ่งผู้บำเพ็ญจะต้องประสพพบเห็น ในขณะบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน เหตุบันดาลจิตที่ให้คิดรจนาวิปัสสนาทีปนีก็คือ เมื่อออกจากกรรมฐานแล้ว มีใจผ่องแผ้วเห็นคุณแห่งวิปัสสนาธุระ จึงรจนาหนังสือนี้ เพื่อบูชาวิปัสสนากรรมฐานและครูบาอาจารย์ทั้งหลาย

. โลกนาถทีปนี หนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องการสร้างบารมีสามขั้น ในอดีตชาติที่สำคัญแห่งองค์สมเด็จพระสมณโคดมบรมครูเจ้า เหตุบันดาลจิตที่ให้คิดรจนาโลกนาถทีปนีก็คือ เมื่อรจนามุนีนาถทีปนีจบลงแล้ว รู้สึกว่ายังไม่เพียงพอแก่ความต้องการที่จะบูชาพระคุณแห่งพระพุทธองค์ จึงรจนาหนังสือนี้ เพื่อเป็นเครื่องบูชาพระมหากรุณาธิคุณอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งก็ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจใคร่ศึกษาอีกด้วย

. ภาวนาทีปนี หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องภาวนา โดยอธิบายสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา ให้แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดไป เหตุบันดาลจิตที่ให้คิดรจนาหนังสือนี้ก็คือ เมื่อบำเพ็ญกรรมฐานทราบแนวทางแห่งภาวนาแล้ว เห็นความวุ่นวายในวงการภาวนาของท่านคณาจารย์ทั้งหลาย ซึ่งต่างก็อ้างว่าของตนถูก ของตนดี และของตนเป็นวิถีทางที่จะนำไปสู่พระนิพพาน ต้องการที่จะชี้แนวทางภาวนาที่ถูกต้องตามพระพุทธฎีกา จึงรจนาภาวนาทีปนีขึ้น เพื่อให้ผู้มีปัญญาทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ได้พิจารณาให้ทราบชัดเด็ดขาดลงไปว่า อะไรคือสมถภาวนา และอะไรคือวิปัสสนาภาวนา

. โพธิธรรมทีปนี หนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องการตรัสรู้แห่งองค์สมเด็จพระบรมครูเจ้า อธิบายความให้เข้าใจในพระจตุราริยสัจ ทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ เหตุบันดาลจิตให้คิดรจนาหนังสือเล่มนี้ ก็โดยได้รับอาราธนาจาก นายพันตำรวจโทเขียน รัตนสุวรรณ ผู้ต้องการจะทราบให้แน่นชัดลงไปว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราตรัสรู้อะไร

. กรรมทีปนี หนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องกรรมตามคติคำสอนทางพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็นสามภาค คือ ภาคที่หนึ่ง อธิบายถึงกรรมประเภทต่าง ๆ ภาคที่สองอธิบายถึงผลวิบากแห่งกรรมต่าง ๆ ทั้งกรรมดี กรรมชั่ว ภาคที่สาม อธิบายถึงวิธีการทำลายล้างกรรมให้หมดสิ้นไป เหตุบันดาลจิตที่ให้คิดรจนาหนังสือนี้ ก็เพราะมีอุบาสกอุบาสิกาพากันมาถามปัญหาเรื่องกรรมอยู่เสมอ รู้สึกว่าคนทั้งหลายสมัยนี้ยังมีความข้องใจสงสัยในเรื่องกรรมตามคติคำสอนทางพระพุทธศาสนาอยู่เป็นอันมาก ต้องการที่จะอธิบายเรื่องกรรมให้สิ้นซากสิ้นสงสัย จึงได้รจนากรรมทีปนีขึ้น เพื่อประโยชน์แก่มวลชนผู้มีกรรมทั้งหลาย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

. วิมุตติรัตนมาลี หนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยวิถีทางที่จะนำตนไปสู่ความหลุดพ้น จากมุขมณฑลแห่งพญามัจจุราช คือ การตัดขาดจากวัฏสงสาร แล้วประเวศน์เข้าไปสู่พระมหานฤพาน

๑๐. ภูมิวิลาสินี หนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องภูมิต่าง ๆ และปฏิปทาอันเป็นทางดำเนินไปถึงภูมิเหล่านั้น ตั้งแต่นิรยภูมิ ขึ้นไปจนถึงนิพพานภูมิ เหตุบันดาลใจที่ทำให้คิดรจนาหนังสือนี้ และเหตุที่จะมีการเปลี่ยนชื่อจากปฏิปทาทีปนี มาเป็นวรรณกรรมไทยชื่อภูมิวิลาสินีนั้น ก็เพราะได้มีโอกาสอ่านคำประกาศของธนาคารกรุงเทพ จำกัด

งานหนังสือได้รจนาได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก โดยได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดวรรณกรรม ซึ่งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหานคร) ได้จัดให้มีการประกวดวรรณกรรมในวิชาการหลายสาขา อาทิ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา วัฒนธรรม ศาสนา แล้วคัดเลือกเอาสำนวนที่ควรแก่การชนะเลิศเพียงฉบับเดียวเพื่อการเผยแผ่ให้เป็นสมบัติของชาติและเป็นมรดกของอนุชน รุ่นหลังต่อไปภายหน้า ผลของการตัดสินปรากฏว่า หนังสือของพระพรหมโมลีได้รับรางวัลชนะเลิศติดต่อกันถึง ๓ ครั้ง ดังนี้

เรื่อง “ภูมิวิลาสินี” ได้รับรางวัลชนะเลิศวรรณกรรมสาขาศาสนาเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๑๓

เรื่อง “วิมุตติรัตนมาลี” ได้รับรางวัลชนะเลิศวรรณกรรมสาขาศาสนาเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม

เรื่อง “กรรมทีปนี” ได้รับรางวัลชนะเลิศวรรณกรรมสาขาศาสนาเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๑๙ พร้อมกับได้รับคำชมเชยว่า “เป็นเพชรน้ำเอกในวงวรรณกรรมซึ่งนับว่าเป็นเกียรติประวัติอันสูงส่งแก่วงการคณะสงฆ์ไทย

- พุทธศักราช ๒๕๑๖ ถวายพระธรรมเทศนา ในพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลวิสาขบูชา

- พุทธศักราช ๒๕๒๒ ถวายพระธรรมเทศนา ในพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลวิสาขบูชา

- พุทธศักราช ๒๕๓๐ ได้รับการประกาศเกียรติคุณว่า เป็นผู้ทำประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาการแต่งหนังสือทางพระพุทธศาสนา ในวันวิสาขบูชา พุทธศักราช ๒๕๓๐

- พุทธศักราช ๒๕๓๕ เป็นกรรมการสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูต ผู้ทรงคุณวุฒิ

- พุทธศักราช ๒๕๓๖ เป็นหัวหน้าพระธรรมทูต สายที่ ๑

 

งานปกครอง

 

- พุทธศักราช ๒๕๐๙ เป็นเจ้าอาวาสวัดดอน

- พุทธศักราช ๒๕๑๓ เป็นเจ้าคณะตำบลวัดพระยาไกร

- พุทธศักราช ๒๕๑๔ เป็นพระอุปัชฌาย์

- พุทธศักราช ๒๕๑๖ เป็นเจ้าคณะเขตยานนาวา

- พุทธศักราช ๒๕๒๘ เป็นรองเจ้าคณะภาค ๑

- พุทธศักราช ๒๕๓๑ เป็นเจ้าอาวาสวัดยานนาวา (พระอารามหลวง)

- พุทธศักราช๒๕๓๕ – ๒๕๔๓ เป็นเจ้าคณะภาค ๑

- พุทธศักราช ๒๕๓๕ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

 

งานศึกษา

 

- พุทธศักราช ๒๔๙๓ เป็นครูสอนปริยัติธรรม

- พุทธศักราช ๒๔๙๖ เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง

- พุทธศักราช ๒๔๙๖ เป็นกรรมการตรวจบาลีสนามหลวง

- พุทธศักราช ๒๕๑๘ เป็นกรรมการนำประโยคบาลีสนามหลวงไปเปิดสอนในจังหวัดส่วนภูมิภาค

- พุทธศักราช ๒๕๓๑ เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดยานนาวา

 

 

การปฏิสังขรณ์วัดดอน

 

ปี พ.ศ.

ขณะดำรงค์สมณศักดิ์เป็น

จำนวนเงิน

๒๕๐๙ – ๒๕๑๐

พระมหาวิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙

๑๕๗,๙๖๔

 

๒๕๑๑ – ๒๕๐๖

พระศรีวิสุทธิโสภณ

๓,๐๐๐,๓๘๓

 

๒๕๑๗ – ๒๕๒๔

พระราชวิสุทธิโสภณ

๘,๓๙๔,๒๘๖

 

๒๕๒๕ – ๒๕๓๒

พระเทพมุนี

๕,๓๑๔,๕๙๘

 

รวมการปฏิสังขรณ์วัดดอนทั้งสิ้น

๑๖,๘๖๗,๒๓๑

 

 

 

 

การก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดยานนาวา

 

ปี พ.ศ.

ก่อสร้างปฏิสังขรณ์อาคาร

จำนวนเงิน

๒๕๓๒

ปฏิสังขรณ์กุฏิเจ้าอาวาสซึ่งสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐

๓,๙๐๘,๐๘๙

 

๒๕๒๔

สร้างกุฏิสงฆ์เป็นอาคารทรงไทยตรีมุข สูง ๕ ชั้น ๘๐ ห้อง

๑๕,๑๐๐,๐๐๐

 

 

สร้างศาลาบำเพ็ญกุศลอาคารทรงไทย ประดับยอดปราสาท ๕ ยอด สูง ๓ ชั้นครึ่ง

๗๖,๓๐๐,๐๐๐

 

๒๕๓๖

สร้างหอพระไตรปิฏกสูง ๓ ชั้น

๕,๓๙๙,๓๐๐

 

รวมการปฏิสังขรณ์วัดยานนาวาทั้งสิ้น

๑๐๐,๗๖๗,๓๘๘

 

 

งานพิเศษ

 

- พุทธศักราช ๒๕๒๘ เป็นกรรมาธิการแห่งสังคีติการกสงฆ์สังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฏก

- พุทธศักราช ๒๕๓๕ เป็นกรรมการร่างกฎมหาเถรสมาคม

- พุทธศักราช ๒๕๓๗ เป็นประธานกรรมการแปลพระไตรปิฏก

ภาษาบาลีเป็นภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

- พุทธศักราช ๒๕๓๙ เป็นกรรมการศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศ

สำหรับพระภิกษุสามเณร (ศ.ต.ภ.)

- พุทธศักราช ๒๕๓๗ เป็นผู้อำนวยการใหญ่กองการวิปัสสนาธุระแห่งประเทศ ไทย

 

สมณศักดิ์

 

- พุทธศักราช ๒๕๑๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ

ชั้นสามัญที่ พระศรีวิสุทธิโสภณ

- พุทธศักราช ๒๕๑๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น

พระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวิสุทธิโสภณ

- พุทธศักราช ๒๕๒๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ

ชั้นเทพที่ พระเทพมุนี

- พุทธศักราช ๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ

ชั้นธรรมที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี

- พุทธศักราช ๒๕๓๗ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นรองสมเด็จ

พระราชาคณะชั้นหิรัณยบัฎที่ พระพรหมโมลี

พระพรหมโมลี เป็นพระมหาเถระที่ทรงคุณธรรม ผลงาน ทุกอย่างทุกประการของพระเดชพระคุณเป็นที่ประจักษ์ชัดในคุณค่าแห่งความเป็นนักปราชญ์ในความถูกต้องเที่ยงธรรมตามกฎระเบียบแห่งการบริหารงานในหน้าที่ เป็นแบบอย่างอันงดงามแห่ง สมณจริยาสมการสรรเสริญของปวงนักปราชญ์อย่างแท้จริง

 

มรณภาพ

 

พระเดชพระคุณพระพรหมโมลี และคณะสงฆ์ ๙ รูปเดินทางไปประเทศพม่า แล้วเดินทางไปยังเมืองทวาย เพื่อปฏิบัติศาสนกิจค้นคว้าข้อมูลและหลักฐานทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระโสภณเถระและพระอุตตรเถระในอดีตที่ผ่านมาเพื่อนำข้อมูลหลักงานที่ได้มาเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติการสืบสานพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ตั้งแต่เวลาประมาณ ๒๓.๐๐ น. ของคืนวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๔ ในขณะจำวัดอยู่ที่พักในเมืองทวาย ประเทศพม่า สิริรวมอายุได้ ๗๐ ปี ๗ เดือน ๘ วัน พรรษา ๕๐ 

 



 ดาวน์โหลด pdf


หัวข้ออื่นๆ

ประวัติ วัดบรมสถล(วัดดอน)ประวัติเจ้าอาวาสวัดดอนบารมีธรรมพระพรหมโมลี

© Copyright 2007-2012 www.Watdon.net All rights reserved.